ปลัดฯ แรงงาน ‘ย้ำ’ ทำงานเชิงรุก คุ้มครองแรงงานนอกระบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 17, 2014 16:52 —สำนักโฆษก

ปลัดฯ แรงงาน ให้ทุกภาคส่วนบูรณาการ ขับเคลื่อน ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ระดับภูมิภาคต้องมีเครือข่ายใช้ระบบออนไลน์ทำงานอย่างเข้มแข็ง เชิงรุก แรงงานเป็นศูนย์กลางภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่าการขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้แก่ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่มีหลักประกันสังคมจากการทำงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการบูรณาการร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยสำนักงานแรงงานจังหวัด จะต้องทำงานโดยผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ และต้องมีการปฏิรูปการทำงานให้เข้มแข็ง เป็นเชิงรุกมากขึ้น

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดการแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มใหญ่ในเรื่องของจังหวัด ต้องมุ่งเน้นเรื่องอาชีวอนามัย โรคที่เกิดจากการทำงาน เรื่องของการมีหลักประกันในเรื่องรายได้ในการดำรงชีพ และอาชีพ แรงงานจังหวัดจึงควรจะสร้างรูปแบบงานให้เกิดขึ้น โดยประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน การจัดการภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังแรงงานของประเทศได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559” ซึ่งสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคม นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยุทธศาสตร์ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันทางสังคม เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายการมีงานทำ เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ

สำหรับการดำเนินงาน มีการสร้างเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคประชาชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานคู่ขนานกับคณะอนุกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบระดับจังหวัด และเชื่อมโยงกับระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติ โดยดำเนินการจัดตั้งในจังหวัดที่เป็นฐานการทำงานของ สสส. 10 จังหวัดและจังหวัดที่มีเครือข่าย หรือชมรมอาสาสมัครแรงงาน รวมเป็น 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ขอนแก่น ราชบุรี นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ยะลา นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และ กรุงเทพฯ

โดยในปี 2558 มีแผนดำเนินการจังหวัดนำร่องอีก 10 จังหวัดคือจังหวัดปทุมธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร หนองคาย สุรินทร์ ปัตตานี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ