กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศผลสำรวจ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2014 17:09 —สำนักโฆษก

วันนี้ (23 ธันวาคม 2557) เวลา 13.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557 ณ ห้องอินฟินิตี้ 1 โรงแรมพลูแมน บางกอก คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมและยกระดับความรู้ ความเข้าใจข่าวสารวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงเหตุและผลหลักการบทพิสูจน์บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยไม่หลงเชื่อข่าวสารงมงายในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งนี้ภายในงานได้เปิดตัวผลงานวิจัยสุดเจ๋ง “เลนส์ ทวิทรรศน์แบบพกพาและเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ซึ่งมีกำลังขยายมากถึง 100 เท่า คิดค้นโดยนักวิจัยเนคเทค/ สวทช.” เป็นครั้งแรก

ดร. พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึง การจัดงานประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557 เป็นกิจกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. จัดขึ้นครั้งนี้เข้าสู่ปีที่ 21 เพื่อสร้างกระแสความนิยมและส่งเสริมความเข้าใจข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย ทั้งนี้ได้รวบรวมข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2556 - 15 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งข่าวที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกมีจำนวนทั้งสิ้น 29 ข่าว แบ่งเป็นข่าวในประเทศ 16 ข่าว และต่างประเทศ 13 ข่าว โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 15 หน่วยงาน และสื่อมวลชนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ร่วมกันพิจารณาข่าวในหลากหลายแง่มุมทั้งในประเด็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผลสำรวจจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำรวจและจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัด และผ่านทางระบบออนไลน์ และแบบสอบถาม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน

สำหรับผลที่ได้จากการสำรวจในปีนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับข่าวใกล้ตัวที่มีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของตนเองและชุมชนใกล้เคียงเหมือนเช่นที่ผ่านมา ที่มีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ความรู้สอดแทรกอยู่ในทุกข่าว และก็เป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้ข่าวความสำเร็จของแวดวงวิทยาศาสตร์ของไทยติดอยู่ใน 10 อันดับข่าวด้วย ซึ่งในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ มีความคาดหวังว่าการสำรวจนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลข่าวสารทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ของประชาชนมากขึ้น ในขณะเดียวกันนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เองก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และนำผลงานต่างๆ เผยแพร่และเข้าถึงสาธารณชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งทางปัญญาและนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องสู่ประชาชน โดยเน้นความรู้และความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะช่วยทำให้เกิดกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และนำกระบวนการคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

สำหรับผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557 ได้แก่

อันดับที่ 1 อีโบลาไวรัส...ไวรัสอันตราย จากรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกของเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยในประเทศที่มีการระบาดวงกว้าง 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเชียร์ราลีโอน (รวมสงสัย/น่าจะเป็น/ยืนยัน) สะสม 18,464 ราย เสียชีวิต 6,841 ราย และประเทศที่มีการระบาดในพื้นที่จำกัด ได้แก่ ไนจีเรีย เซเนกัล สหรัฐอเมริกา สเปน และมาลี พบผู้ป่วยสะสม 34 ราย เสียชีวิต 15 ราย ทั้งนี้ประเทศไนจีเรีย เซเนกัล และสเปนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคอีโบลาแล้ว สำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้ดำเนินการตามมาตรการซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำตามประกาศขององค์การอนามัยโลกตามประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC)

อันดับที่ 2 ศิริราช คิดค้นแอนติบอดีต้านโรคไข้เลือดออก “อีโบลา” แพทย์ศิริราชวิจัยคิดค้นแอนติบอดีผลิตจากเม็ดเลือดขาวคนไทยใช้เป็นต้นแบบที่นำไปประยุกต์ใช้รักษาอีโบลาได้ โดยแอนติบอดี ดังกล่าวเป็นแอนติบอดีสายเดี่ยว มีขนาดเล็กกว่า 5 เท่า สามารถเข้าไปในเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้เป็นการคิดใหม่ คือยอมให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วแอนติบอดีเข้าไปยับยั้ง ไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและออกมานอกเซลล์ได้ ทั้งนี้ประเทศไทยเตรียมตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

อันดับที่ 3 ไฟโหมไหม้บ่อขยะสมุทรปราการ ควันดำคลุ้ง กระทบชาวบ้าน เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา 8 จ.สมุทรปราการ ก่อให้เกิดควันดำกระจายในพื้นที่อย่างหนาแน่น กระทบประชาชนและบ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบมลพิษทางอากาศโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษที่บริเวณกองขยะที่เกิดไฟไหม้และชุมชนห่างจากจุดเกิดเหตุในรัศมี 200 เมตร พบก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ตรงกองขยะสูงถึง175ppm เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 27ppm

อันดับที่ 4 เจาะส้มตำถาดอร่อย...แฝงอันตราย ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่จึงทำให้ “ส้มตำถาด” กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เผย ผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีปนเปื้อนในส้มตำถาด พบว่าถาดที่มีสีสันและลวดลายต่างๆ หากนำมาวางส้มตำลงบนถาดโดยตรง ก็จะพบว่ามีสารแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

อันดับที่ 5 นักวิชาการชี้แผ่นดินไหวเชียงรายแรงสุดในรอบพันปี ในช่วงเย็นของวันที่ 5 พฤษภาคม ได้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.3 ริกเตอร์ โดยนักวิชาการด้านแผ่นดินไหวกล่าวว่าเป็นการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือที่รุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งพันปี เกิดแรงสั่นสะเทือนทั้งภาคเหนือของประเทศไทยและพม่า รายงานข่าวพบความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

อันดับที่ 6 อันตรายใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมันอาหาร เจอสารก่อมะเร็ง-โซดาไฟ มีการออกข่าวเตือนการใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมันจากอาหารที่ทำให้เสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็ง เนื่องจากเนื้อเยื่อเล็กๆ ของกระดาษทิชชูจะติดในอาหาร ทำให้ได้รับสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในกระดาษทิชชูด้วย โดยแนะให้ผู้บริโภคควรเลือกใช้ทิชชูที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล

อันดับที่ 7 8 ตุลาชวนจับตาจันทรุปราคาเต็มดวงในวันออกพรรษา ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันออกพรรษา 8 ตุลาคม 2557 เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งสุดท้ายในปีนี้ ซึ่งในประเทศไทยเห็นเพียง 24 นาทีทุกพื้นที่ของประเทศ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก แนะจุดสังเกตให้อยู่ในที่สูงหรือโล่งแจ้งไม่มีอะไรบดบัง

อันดับที่ 8 ส่ง 2 นักวิทย์หญิงไทยลุยสำรวจขั้วโลกใต้ สมเด็จพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริและทรงสนับสนุน 2 นักวิจัยหญิงไทยร่วมเดินทางสำรวจและวิจัยขั้วโลกใต้ หรือทวีปแอนตาร์กติก กับคณะนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ เกรทวอลล์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ด้านวิชาการและการสร้างองค์ความรู้ โดยนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยที่ผ่านการ คัดเลือกคือ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ผศ.ดร.อรทัย ภิญญาคง จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเดินทางไปศึกษาวิจัยด้านผลกระทบที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการวิจัยดิน เพื่อนำกลับมาใช้ในการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

อันดับที่ 9 ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในคืนวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2557 ดาวเสาร์ได้โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีที่ระยะทางประมาณ 1,331 ล้านกิโลเมตร ทำให้มองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมาก ชัดเจนและยังจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน

อันดับที่ 10 “พิรดา” ว่าที่มนุษย์อวกาศหญิงไทยคนแรก "พิรดา เตชะวิจิตร์" นักพัฒนานวัตกรรมจาก GISTDA คว้าสุดยอดหญิงไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 23 คนจากผู้สมัครกว่า 107 คนทั่วโลก ที่สมัครเข้าคัดเลือกไปท่องอวกาศ โดยผ่านการฝึกภารกิจโหดก่อนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 23คนจากผู้สมัครกว่า 107 คน จาก 62 ประเทศทั่วโลก "พิรดา" เป็นผู้หญิงไทยคนแรก และเป็นผู้หญิงที่ได้รับการคัดเลือกเพียง 2 คน จากทั่วโลกที่จะเดินทางไปท่องอวกาศในช่วงปี 2558 โดยเครื่องบิน ลิงซ์ มาร์ค ทู (LYNX MARK II) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์เพอดิชั่นคอร์เปอเรชั่น (SXC)

นายสมชาย เทียมบุญประเสิรฐ (รอง ปกท.วท.) กล่าวถึงการจัดกิจกรรมขึ้นครั้งนี้เพื่อให้เกิดการสร้างกระแสความนิยมและส่งเสริมความสนใจที่มีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มเยาวฃนและประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการให้คนทั่วไปมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องใกล้ตัวสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าว นำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลได้อย่างมีความสุข รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจและมีความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดตัวผลงานวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ “เลนส์ทวิทรรศน์แบบพกพาและเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ซึ่งมีกำลังขยายมากถึง 50 และ 100 เท่า” ซึ่ง ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นักวิจัยจากห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ได้คิดค้นทำ “เลนส์ทวิทรรศน์ติดอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบพกพา” เป็นเลนส์ที่ทำจากพอลิเมอร์ สามารถเปลี่ยนและเชื่อมต่อแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ได้ ซึ่งสามารถกำหนดกำลังขยายได้ด้วยวิธีทำเลนส์ที่มีสิทธิบัตรเฉพาะ โดยออกแบบเลนส์ให้มีสองกำลังขยายในอันเดียว เลนส์จะติดกับหน้ากล้องได้แนบสนิทและออกแบบให้มีแท่นวางตัวอย่างให้สามารถใช้กับกล้องหน้าและกล้องหลังได้อย่างสะดวก การใช้งานง่าย โดยเลือกเลนส์ที่มีกำลังขยายที่ต้องการ แล้วติดเลนส์ลงบนหน้ากล้อง ก็สามารถส่องดูตัวอย่างงานได้อย่างที่ต้องการและอุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถถ่ายภาพหรือบันทึกวีดีโอได้ทันที

สำหรับกล้องจุลทรรศน์เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการศึกษารายละเอียดของสิ่งของเล็กๆ มีประโยชน์ทั้งในวงการการศึกษา การเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ใช้ในการตรวจความบกพร่องของชิ้นงาน รอยแตกขนาดเล็ก หรือสิ่งปลอมปนต่างๆ แต่กล้องจุลทรรศน์ส่วนใหญ่ ต้องติดกล้องถ่ายภาพเพิ่ม ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการพกพา หรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นักวิจัยจึงได้คิดค้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้เวลาศึกษาวิจัย 4 เดือน จึงได้ผลงานวิจัย “เลนส์ทวิทรรศน์” ซึ่งผลงานนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้ในการด้านการศึกษา การเกษตร อาทิ นำไปใช้ในการศึกษาสิ่งของขนาดเล็ก เช่น เช่น เซลล์พืช หรือ ใช้ในการดูสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ หรือ รากพืช และใช้ในการส่องดูชิ้นงานโบราณ เพื่อดูตำหนิ หรือปรับใช้กับผู้นิยมพระเครื่องก็ได้

ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยเลนส์ทวิทรรศน์นี้ มีนโยบายที่จะดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ครู เด็กและเยาวชน ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะสามารถทดแทนกล้องจุลทรรศน์ในปัจจุบันที่มีราคาสูงและไม่เพียงพอกับสถานการศึกษาต่างๆ ในประเทศ พร้อมกันนี้ ห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทค สวทช. ได้ดำเนินการนำร่องระดมทุนวิจัยทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้คนทั่วโลกได้เข้ามาสนับสนุนงานวิจัย ในระหว่างวันที่ 11 ธ.ค. 57 – 10 ม.ค. 58 โดยผ่านช่องทาง Crowdfunding ที่ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งการระดมทุนผ่าน Crowdfunding นี้ สามารถเข้าไปได้ที่https://www.indiegogo.com/projects/dual-microscope-lens-for-mobile-devices-twi-vis นอกจากจะทำให้นักวิจัยเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้สำรวจตลาดและความต้องการของผู้ใช้ในวงกว้างได้รวดเร็วขึ้น จึงเป็นแนวทางที่ผลงานวิจัยจะสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในการนำงานวิจัยมาใช้ได้จริง

ต่อจากนั้น เวลา 16.00 น. ดร.พิเชฐ (รมว.วท.) พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ (ปกท.วท.) คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ วท. ได้ร่วมงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ และเพื่อเป็นการขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารผลงานของ วท. และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ วท. กับสื่อมวลชนให้ดียิ่งขึ้น ภายในงานสื่อมวลชนได้ร่วมกิจกรรม อาทิ เช่น เล่นเกมส์และการจับรางวัล ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัด วท.

ข้อมูลโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เรียบเรียงโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายรัฐพล หงสไกร,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ