นายกรัฐมนตรีติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ กำชับโครงการเรื่องน้ำต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 15:43 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ พิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 58-59 สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีแก้ไขให้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ซ้ำซากต้องลดลง-พื้นที่แล้งซ้ำซากต้องหมดไป กำชับเรื่องโครงการน้ำต้องเกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนอย่างสูงสุด ห้ามมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

วันนี้ (12 ก.พ.58) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ ในปัจจุบันและความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2559 โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้รายงานนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึงการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ได้มีการปรับแผนเงินงบประมาณปี 2557 รวมทั้งได้รับงบประมาณจากงบประมาณปี 2558 และที่จะของบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับไว้แล้ว โดยการดำเนินการโครงการตามงบประมาณดังกล่าวได้มีความเชื่อมโยงกับร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการจะนำคำแนะนำที่ได้รับไปปฏิบัติต่อไป

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2558-2559 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ/ป้องกันการเซาะ 2. การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 3. การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 4. การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 5. การจัดการคุณภาพน้ำ 6. การบริหารจัดการ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาปัญหาเร่งด่วนที่ควรต้องดำเนินการทันที และได้จัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาดังนี้ 1. การขาดแคลนน้ำอุปโภค ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนลำดับแรกกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ที่ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยจะต้องมีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียงทั่วถึง 2. การขาดแคลนน้ำภาคการผลิต 3. การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4. การจัดการคุณภาพน้ำ 5. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการกัดเซาะพังทลายของดิน 6. การบริหารจัดการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการทำงานทุกเรื่องในเรื่องน้ำต้องยอมรับว่าต่างหน่วยงานยังทำงานแบบต่างคนต่างทำอยู่ แต่การดำเนินการในครั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่แต่งตั้งโดย คสช. จะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานเรื่องน้ำต้องนำงานมารวมในแผนเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนในการทำงาน โดยที่ประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจปัญหาการทำงานตรงนี้ดี ซึ่งคณะกรรมการจะได้นำข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมไปปรับร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นรูปร่างที่ชัดเจน ที่คาดว่าอีกประมาณ 1 เดือนร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ จะมีความสมบูรณ์สามารถประกาศให้ประชาชนได้รับทราบถึงแผนที่รัฐบาลจะดำเนินการ โดยข้อสังเกตเรื่องหนึ่งในส่วนงานของกรมทรัพยากรน้ำที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้คือให้เพิ่มศักยภาพในสิ่งที่เรามีศักยภาพอยู่แล้วในส่วนของพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด และบึงขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ให้มีการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้ โดยจะต้องมีการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อไม่ไปกระทบกับป่า ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ไปเร่งทำเรื่องนี้ รวมทั้งได้กำชับให้กรมทรัพยากรน้ำไปสำรวจความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในส่วนท้องถิ่นว่ามีความเหมาะสมกับการใช้น้ำประเภทใด น้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดิน และมีปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือไม่อย่างไร โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานเสริมเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างแท้จริง

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า น้ำที่เคยท่วมในพื้นที่ซ้ำซากจะต้องลดลง พื้นที่แล้งซ้ำซากจะต้องหมดไป โดยทุกหน่วยงานจะต้องไปหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานก็ได้ทำงานกันอยู่แล้วเพราะขณะนี้เป็นช่วงแล้ง โดยมีเป้าจากการประเมินว่าในปีนี้จำนวนของจังหวัดและหมู่บ้านที่แล้งซ้ำซากจะต้องลดลง และเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับอย่างมากที่สุดคือโครงการต่าง ๆ ต้องเกิดประสิทธิภาพต่อพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด ห้ามมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เน้นย้ำการตรวจสอบต่าง ๆ ให้ทุกหน่วยงานที่มีกิจกรรมในเรื่องโครงการน้ำให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้างในเรื่องของน้ำ และนายกรัฐมนตรียังย้ำให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยให้ดูวงไข่แดงของป่าที่สมบูรณ์ ส่วนที่มีการบุกรุกแล้วต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เจรจากับประชาชน ส่วนป่าที่ต้องฟื้นฟูเพื่อเป็นแหล่งน้ำก็ต้องเข้มงวดหากมีการบุกรุกต้องจับกุม ขณะเดียวกันในแหล่งพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ที่ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์แล้วก็ต้องมีการเจรจากับประชาชน โดยขอให้อธิบดีกรมป่าไม้และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดูแลเรื่องนี้ด้วย” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว

ด้านอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ในร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเข้าไปเสริมในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในส่วนที่ขาดแคลน โดยจัดหาระบบประปา ใช้แหล่งน้ำบาดาลทำระบบประปาเพื่อเติมให้ครบตามจำนวน 9,535 หมู่บ้านทั่วประเทศไทย ส่วนแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพของน้ำอุปโภคบริโภคอย่างมาก จะนำไปใช้เสริมในเรื่องน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรรายเล็ก ๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ 5-10 รายที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 50-100 ไร่ โดยจะไปดำเนินงานพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลด้วยการเจาะบ่อน้ำบาดาล ติดตั้งเครื่องสูบจ่ายน้ำตามแปลงเกษตร เพื่อเสริมน้ำต้นทุนด้านการเพาะปลูก สำหรับในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีการอนุญาตให้ใช้แหล่งน้ำบาดาล โดยมีการกำกับควบคุมและเก็บค่าใช้น้ำบาดาล

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ