การคุ้มครองแรงงานที่ดี มิติ ‘ยั่งยืน’ สู่การแก้ไขปัญหา ‘ค้ามนุษย์’ ด้านแรงงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 1, 2015 17:06 —สำนักโฆษก

วันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกระดับปัญหาการค้ามนุษย์ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติและได้เดินหน้าในเชิงของการแก้ไขปัญหาที่สะสมมาและเข้มงวดจริงจังในทุกมาตรการทั้งในเชิงการปราบปรามและการป้องกัน ต้องยอมรับว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาขนาดใหญ่ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงพัวพันกับภาคเศรษฐกิจการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าภาคประมงทะเลอย่างเห็นเด่นชัด และเหนือสิ่งอื่นใด มีผลเต็มๆ กับภาพลักษณ์ประเทศ สะท้อนถึงการใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม บังคับ กดขี่

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมาย มาเป็น ‘ต้นทาง’ ในการจัดการเพื่อให้การคุ้มครองแรงงาน ต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายเป็น ‘จุดเริ่มต้น’

กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 ที่ระบุสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้จัดให้มีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ติดต่อกันหลังทำงานมา ไม่เกิน 4 ชั่วโมง จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้ และแก้ไขอายุขั้นต่ำเด็กทำงาน จากเดิมอายุไม่ต่ำกว่า13 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า15 ปี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557

สำหรับกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ที่ระบุสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชม. ภายในระยะเวลา 24 ชม. หรือ 77 ชม. ภายในระยะเวลา 7 วัน กรณีฉุกเฉินนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน ในเวลาพักได้แต่ต้องจัดเวลาพักชดเชย

ให้โดยเร็ว และให้จัดทำหลักฐานเวลาพักไว้ และแก้ไขอายุขั้นต่ำ จากเดิมอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 18 ปี และระบุให้นายจ้างต้องมีการจัดทำเอกสารต่างๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งการได้รับการคุ้มครองที่ดี ได้แก่ สัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร นายจ้างต้องมีการพาลูกจ้างมารายงานตัวปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเจตนารมณ์ ตรงนี้ ก็เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้างจากการสูญหายหรือเสียชีวิตในขณะทำประมง มุมมองจากกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อการคุ้มครองแรงงานประมงซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวและมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานหรือเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไป โดยสาระสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการวางมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และบริการจัดการในการออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลอย่างเหมาะสม และเป็นมาตรฐานสากลเพื่อคุ้มครองแรงงานทางทะเล

ส่วนการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ได้แก่ จัดระเบียบเรือประมง จดทะเบียนเรือประมง และจัดทำฐานข้อมูลเรือประมง ปัจจุบันมีเรือประมงทะเลที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วกว่า 50,000 ลำ

การจัดระเบียบแรงงานภาคประมง โดย ศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงจังหวัด (Sea Fishery Worker Management Center) ใน 22 จังหวัดติดชายทะเล เป็นการจัดระเบียบแรงงาน การจัดระเบียบเรือประมง การคุ้มครองแรงงาน การตรวจ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี และ การช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูเสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล

มาตรการยกระดับการคุ้มครองแรงงาน คุ้มครองลูกจ้างเด็ก โดยจัดทำ MOU ร่วมกับผู้ประกอบกิจการประมง สิ่งทอ อ้อย/น้ำตาล สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการนำมาตรฐานแรงงานไทย และแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) มาใช้เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของสถานประกอบการ/โรงงานในการปฏิบัติ เสริมความมั่นใจว่าตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมไทยไม่มีแรงงานเด็ก แรงงานทาส อย่างแน่นอน

ที่สำคัญ วันนี้นายจ้างและเจ้าของเรือบางรายเริ่มทำเรือประมงต้นแบบที่ปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วน ดูแลลูกจ้างอย่างดีเยี่ยม มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยาบาล บุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้ง VMS และทำตามกฎกระทรวงแรงงานทุกประการ เป็นคำบอกเล่าจาก ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เป็นคำยืนยันที่ส่งสัญญาณที่ดี ว่าภาพใหม่ของการทำประมงไทย ที่การดูแลคุ้มครองแรงงานต้องคู่ขนานกับการทำกิจการประมงที่ดี

ได้ปลามาก คนจับปลาก็ต้องได้รับการดูแลที่มากขึ้นด้วย

ที่สำคัญโอกาสในการทำการค้าก็จะยังคงเป็นโอกาสทีดีสำหรับคนไทยต่อไป

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ