ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย ครั้งที่ 3/2558

ข่าวทั่วไป Thursday April 23, 2015 16:22 —สำนักโฆษก

วันนี้ 23 เมษายน 2558 เวลา 09.30 น. ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย ครั้งที่ 3/2558 โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฝ่ายเลขาธิการร่วม) ผู้แทนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงคณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย ตลอดจนกลไกการเชื่อมโยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศและตลาดภาครัฐเข้ากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคการผลิตและบริการเพื่อเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ในการประชุมหารือดังกล่าว ได้มีข้อสรุปประเด็น ดังนี้

1.กลไกระบบตลาดทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย

1.1 การส่งเสริมการใช้กลไกธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Private Equity)

  • ยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นให้แก่ธุรกิจ Private Equity และนักลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจ Private Equityทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ยกเว้นเฉพาะในส่วนที่ลงทุนในธุรกิจฐาน วทน. เท่านั้น
  • เร่งรัดกรมสรรพากรให้ยกร่างและนำเสนอ พรฎ. เพื่อการยกเว้นภาษีดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน

1.2 การส่งเสริมการใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์สำหรับธุรกิจเทคโนโลยี

  • ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เหลือร้อยละ ๑๕ เป็นเวลา ๕ ปี
  • จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณารับรองธุรกิจฐาน วทน. ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้น

2. จัดให้มีการ(ร่าง)ข้อเสนอ การพัฒนา “เขดนวัตกรรมพิเศษ (Specialized Innovation Zone : SIZ)

  • ปรับเปลี่ยนให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้แรงงานน้อยลง เพื่อนำไปสู่การใช้ วทน. มากขึ้น
  • สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บนฐานนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่เป็น High Value Added (HVA)
  • เป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศและพื้นที่ในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน

คุณลักษณะของ SIZ

พื้นที่ที่มีการอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นของ

  • เอกชนที่ทำวิจัยพัฒนานวัตกรรมอย่างเข้มข้น
  • ธุรกิจและอุตสาหกรรมฐานความรู้, ODM/OBM
  • สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ
  • Knowledge workers ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เอกชน-รัฐ-มหาวิทยาลัย

มีการใช้พื้นที่แบบผสมผสาน ทั้งสถานที่ทำวิจัยพัฒนา โรงงานต้นแบบ โรงงานผลิต และที่พักอาศัย

มีกลไกสนับสนุนและส่งเสริมที่จำเป็นต่อระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรม (Innovation Ecosystem)

กลไลการบริหารจัดการ

  • ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตนวัตกรรมพิเศษ
  • คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการ
  • สำนักงานที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเขตนวัตกรรมพิเศษ

ในประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการการพัฒนาเขต นวัตกรรมพิเศษและมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำรายละเอียดข้อเสนอการพัฒนาเขตนวัตกรรมพิเศษ รวมทั้งจัดทำ(ร่าง)ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตนวัตกรรมพิเศษเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศและคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. การร่างข้อเสนอโครงการอุทยานนวัตกรรมอาหารอาเซียน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าอาหาร ทั้งในรูปของผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาหารและสินค้าอาหารแปรรูปเพื่อกา บริโภคในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มของการลงทุนในกลุ่มประเทศ ASEAN มากขึ้น เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากฐานวัตถุดิบและข้อตกลงการค้าเสรี ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความเสี่ยงในการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันและตลาดส่งออก ยิ่งไปกว่านี้ ประเทศไทยไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงต่ำได้อีกต่อไป เนื่องจากกลุ่มประเทศเปิดใหม่ใน ASEAN มีข้อได้เปรียบด้านค่าแรงงานที่ต่ำกว่าในการผลิตสินค้าอาหารแปรรูประดับปฐมภูมิ

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการแปรรูปอาหารเชิงพาณิชย์ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นให้สูงเทียบเท่าหรือดีกว่าต่างประเทศ อันจะทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ในการทำให้สินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีคุณภาพสูง เพิ่มคุณค่า และคงความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) ได้เสนอแนวทางการพัฒนาเขตนวัตกรรมอาหารอาเซียน โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องการให้บริการด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรต้นแบบและบุคลากร แก่อุตสาหกรรมอาหารอย่างยาวนานเกือบ ๕๐ ปี เพื่อดำเนินการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมในภาคเอกชนให้สามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศได้โดยมี วัตถุประสงค์ 1. เพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน วทน. ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สนับสนุนนวัตกรรมและการวิจัยของบริษัทเอกชนในภาคอุตสาหกรรมอาหาร 2. เป็นเขตส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้บริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารลงทุน และดำเนินการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่สำคัญของอาเซียน 3. สนับสนุน SME ให้เข้าถึงบริการเทคโนโลยี (เช่น บริการทดสอบ พัฒนามาตรฐาน พัฒนานวัตกรรม และการให้คำปรึกษา ฯลฯ) ในอัตราต้นทุนที่ต่ำ ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียนและระดับโลก

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการอุทยานนวัตกรรมอาหารอาเซียน และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ