การระดมความคิด STEM Education : นโยบายเชิงรุกในการพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2015 15:57 —สำนักโฆษก

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ "นโยบายการพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ในงานสัมมนาระดมความคิด เรื่อง "STEM Education นโยบายเชิงรุกในการพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม" จัดโดย คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า วันนี้เรามีอุตสาหกรรมเป็นแหล่งจ้างงานที่ชัดเจน ต้องการมืออาชีพไปช่วยทำงาน อุตสาหกรรมเหล่านี้มีมูลค่าส่งออกหลายแสนล้านบาทต่อปี และกำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ เนื่องจากชิ้นส่วนมีขนาดเล็กลง การทำงานช่วงนี้เราพยายามผลักดันภาคเอชนให้ทำการวิจัย เขาอยากได้การหักลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐบาลได้ทำให้แล้ว หากภาคเอชนตั้งศูนย์วิจัย สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษี ได้ 300% บริษัทเล็กสิทธิประโยชน์จะสูงมากหากเทียบกับบริษัทใหญ่ เรามีสินเชื่อสำหรับ SMEs หากเขาพิสูจน์ได้ว่าเขามีการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมสามารถแจ้งเกิดได้โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะจัดทำบัญชีนวัตกรรม ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. บัญชีความต้องการของภาครัฐ และ 2. บัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเข้าไปช่วยตรวจสอบนวัตกรรมทำให้ขายได้ด้วยความปลอดภัย และจะได้นำทั้ง 2 บัญชี มาจับคู่กัน

นอกจากนี้ เรากำลังลงทุนเรื่อง ระบบราง ต้องใช้ทุนจำนวนมาก และต้องการกำลังคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่จะมา Operator และมีการพัฒนากำลังคนร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้านดาวเทียมและอวกาศ ประเทศไทยมีดาวเทียมไทยโชต ซึ่งจะหมดอายุในอีก 2 ปี กำลังวางนโยบายว่า ดาวเทียมดวงที่ 2 ที่เราจะจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิต ในปัจจุบันประเทศไทยหลายมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรด้านอวกาศ

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมนวัตกรรม การหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญ STEM และการฝึกอบรม ยังไม่ได้ใส่ทรัพยากรสำหรับคนวัยทำงาน ไม่ได้ดูเฉพาะอุดมศึกษา ต้องสร้างแรงบันดาลใจตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ครูต้องสอนโดยทำให้เด็กอยากรู้ ระดับมัธยมจำเป็นต้องให้ STEM กลับคืนมามากกว่านี้ อาชีวศึกษาต้อง STEM ร่วมกับภาคเอกชน ต้องไปรับภาคปฏิบัติกับภาคเอกชน เพื่อให้สถานศึกษาและภาคเอกชนช่วยพัฒนาเด็กไม่ใช่ส่งเด็กไปฝึกงานแบบเดิมๆ ภาคเอกชนอยากให้บัณฑิตมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ความสัมพันธ์ทางสังคมและด้านอื่นๆ ขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชน ณ วันนี้ ยังขาดคน เราจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายนักวิจัยไปทำงานกับภาคเอกชน โดยปลดล็อคในเรื่องนี้ จากการประสานกับ สกอ. ผลงานของนักวิจัยหรือผู้ช่วยนักวิจัย สามารถนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยได้ เอกชนยอมรับว่าช่วยเขาลดต้นทุนได้จริง การประสานงานเพื่อให้สถาบันการศึกษามีแพ็กเก็จที่จะทำงานกับภาคเอกชนอย่างชัดเจนต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ถ่ายภาพโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ , นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ