ไทยชวนภาคเอกชนและ SMEs ญี่ปุ่น ลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางโลจิกติกส์

ข่าวทั่วไป Saturday July 4, 2015 17:26 —สำนักโฆษก

วันนี้ (4 ก.ค.58) เวลา 12.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศ CLMV ร่วมรับประทานอาหารกลางวันและแสดงวิสัยทัศน์แก่ผู้นำภาคเอกชนญี่ปุ่น ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ณ ห้อง Peacock โรงแรม Imperial

ในส่วนของประเทศไทย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสพบกับเคดันเรน และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในวันนี้ ซึ่งนับว่าอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการจัดประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ในฐานะมิตรประเทศยาวนานที่มีต่อกัน

ภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขง ในส่วนของไทย ภาคเอกชนญี่ปุ่นเรียกได้ว่า เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทย และเป็นส่วนสำคัญยิ่งของความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยมาหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ธุรกิจญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุน ต่างมาพร้อมกับเทคโนโลยี วิทยาการ การบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องที่ ซึ่งทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาค

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณภาคเอกชนญี่ปุ่น และหวังว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะคงบทบาท ที่แข็งแกร่งในประเทศลุ่มน้ำโขงทุกประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเจริญให้แก่อนุภูมิภาคและร่วมก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ลุ่มน้ำโขงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหนึ่งที่มีพลวัตมากที่สุดในภูมิภาคและในโลกและยังขยายตัวได้อีกมาก

ในส่วนของไทย เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและพัฒนาการไปในทางที่ดี โดยคาดว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะมีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 3 – 4

ไทยให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติในอนุภูมิภาค

ไทยได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมแก่บริษัทต่างชาติที่เข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarters – IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centres – ITC) ในไทย นักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและการผลิต เพื่อขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องไปยังประเทศในภูมิภาค ในลักษณะ “บวกหนึ่ง”

ขณะเดียวกัน ไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ทั้งทางถนน ราง น้ำและอากาศ โดยใช้เงินทุนมากกว่า 7 ล้านล้านเยนในระยะ 8 ปี เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอนุภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ

รัฐบาลไทยได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation – MOC) กับญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางราง 3 เส้นทาง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แก่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เส้นทางรถไฟกาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – อรัญประเทศและแหลมฉบัง และเส้นทางแม่สอด – มุกดาหารตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก

ไทยกำลังผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัดตามระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของอนุภูมิภาค ภายในปลายปีนี้ ได้แก่ จ. ตาก ติดกับเมียนมาร์ จ. มุกดาหาร และ จ. หนองคาย ติดกับ ลาว จ. สระแก้ว และ จ.ตราด ติดกับกัมพูชา และ จ. สงขลา ติดกับมาเลเซีย จึงขอเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรมไปยังเขตเศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นฐานการผลิตเดียวกัน เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน

หากบริษัทใดของญี่ปุ่นมีข้อเสนอเกี่ยวกับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของท่าน เพื่อปรับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ไทยหวังให้ประเทศในอนุภูมิภาคนี้เป็นผู้นำแห่งความร่วมมือที่เติบโตไปด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งกัน

โดยนายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่จะได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intention – MOI) ระหว่างเมียนมาร์ – ไทย – ญี่ปุ่น สำหรับการพัฒนาโครงการทวาย ในช่วงบ่ายวันนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้ายุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

ขณะนี้ ไทยกำลังเร่งพัฒนาการเชื่อมต่อกับทวาย ทั้งทางรางที่กำลังร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น และทางถนนจากชายแดนไทยไปยังทวาย ซึ่งรัฐบาลไทยได้เห็นชอบวงเงินจำนวน 16,500 ล้านเยนแล้ว โดยจะเชี่อมโยงทวายกับอีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งไทยหวังว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะสนับสนุนโครงการทวายอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความชื่นชมนโยบายของบริษัทญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยี ตลอดจนการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในกรอบลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ไทยให้ความสำคัญต่อการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค และให้ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วม ในโครงการต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและอาเซียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ญี่ปุ่นมาลงทุน ในอนุภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรแปรรูป การรีไซเคิล พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในฐานะฐานการผลิตส่วนขยาย

รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ประเทศที่เกี่ยวข้อง และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในการพัฒนาแรงงานฝีมือในลุ่มน้ำโขง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ผ่านมา ไทยได้จัดฝึกอบรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานชายแดนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญอย่างมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางต่อไป

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ