รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 14:14 —สำนักโฆษก

วันนี้ (14 ก.ค.58) เวลา 14.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้ง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ปริมาณน้ำที่มีในเขื่อนขณะนี้ลดน้อยลง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาไม่สามารถเพิ่มน้ำในเขื่อนได้ ขณะเดียวกันได้มีการปล่อยน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้มีน้ำต่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และพืชผลทางการเกษตรสามารถอยู่ได้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะตกประมาณกลางเดือนสิงหาคม ทำให้นับจากนี้จนถึงช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างพอเพียง รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของภาคการเกษตร ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาว่าจะต้องลดปริมาณการปล่อยน้ำให้เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากเดิมปล่อยน้ำที่ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

สำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวรัฐบาลจะดูแลในเรื่องน้ำดื่มและน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในเขตภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนประปาหมู่บ้านให้เพียงพอและสามารถอยู่ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม แต่ในส่วนเรื่องการปล่อยน้ำสำหรับด้านการเกษตรในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นคงไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ในขณะนี้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการร่วมกับทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องส่วนต่าง ๆ ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงความจำเป็นที่ไม่ให้สูบน้ำในระบบชลประทานในช่วงนี้ เพื่อจะได้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้ในการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เตรียมมาตรการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรทุกพื้นที่ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับทหารดำเนินการสำรวจว่ามีพื้นที่ใดบ้างเป็นพื้นที่นา ไร่ และพื้นที่สวน รวมทั้งประมง เพื่อพิจารณาสภาพความจริงปัจจุบันเป็นอย่างไร และน้ำที่ได้มีการประเมินไว้ถ้ามีการปล่อยและดำเนินการตามลักษณะดังกล่าวจนถึงเดือนสิงหาคมสภาพและสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมทันท่วงที ขณะเดียวกันหากได้มีการบริหารจัดการน้ำในลักษณะดังกล่าวแล้ว การประปานครหลวงยืนยันว่าสามารถที่จะให้บริการน้ำกับประชาชนในเขตนครหลวงได้จนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนประปาภูมิภาคในบางพื้นที่อาจจะประสบปัญหาบ้างเล็กน้อย แต่ก็จะมีการแก้ไขโดยหาแหล่งน้ำอื่นมาช่วยเสริม ทั้งนี้ในภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้นคิดว่าไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ขณะที่ในส่วนประปาหมู่บ้านนั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงพื้นที่ไม่มีประปาหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง หรือพื้นที่แล้งซ้ำซาก ในปีนี้ได้มีการดำเนินการแก้ไขไปบ้างแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาเกิดขึ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย จะมีการนำน้ำไปแจกจ่ายและบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ พื้นที่ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ประเภทที่ 2 มีการชลประทานในลักษณะที่เป็นอ่างน้ำเดี่ยว ซึ่งการบริหารจัดการอ่างน้ำเดี่ยวเป็นไปค่อนข้างง่าย เพราะรู้ว่าสภาพเป็นอย่างไร โดยอ่างทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 30 กว่าอ่าง และประเภทที่3 คือ ระบบน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งประเทศไทยมีระบบอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) และระบบน้ำแม่กลอง ที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่นอกเขตชลประทาน จะเพาะปลูกข้าวหรือพืชที่เป็นพืชหลักได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการปลูกไปบางส่วนแล้ว ส่วนในพื้นที่เขตชลประทานที่เป็นอ่างเดี่ยวต้องมีการบริหารจัดการโดยชุมชนและเจ้าของโครงการ ซึ่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวก็สามารถดูแลได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ 2 แห่งขณะนี้ มีทั้งฝนตกและฝนไม่ตก โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่จังหวัดนครราชสีมาน้ำแล้ง แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาน้ำท่วม ซึ่งสถานการณ์ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่นอกเขตชลประทานและในเขตชลประทานที่เป็นอ่างเดี่ยว โดยส่วนนี้ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้เพาะปลูกพืชโดยติดตามและพิจารณาสภาพอากาศประกอบด้วย

สำหรับกรณีระบบน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ที่จะต้องดูแลประมาณ 7 ล้านกว่าไร่ มีภารกิจ 3 อย่าง คือ ด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม และอุปโภคบริโภค โดยพื้นที่ดังกล่าวขณะนี้ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าปกติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์ว่าแม้ฝนจะล่าไปแต่ก็จะมีฝนตกบ้างแต่ขณะนี้ฝนที่คาดการณ์ไว้ตกลงมาน้อยมาก จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการปรับการบริหารจัดการและส่งน้ำให้เหมาะสม โดยสิ่งแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่ปล่อยน้ำในบริเวณดังกล่าวจะทำให้เรือกสวนไร่ นา ที่อยู่ใกล้กับบริเวณปากอ่าวจะได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าจำนวนมหาศาล รวมถึงกิจการทางภาคเกษตรอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณที่ใกล้กับน้ำ ทั้งด้านการประมง หรือการเกษตรประเภทอื่นก็จะได้รับความเสียหายเช่นกัน ขณะเดียวกันน้ำที่ประชาชนในกรุงเทพฯ ใช้อุปโภคบริโภคขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าปล่อยให้แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดความเค็มเกินขนาดมากจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคในกรุงเทพฯ ทั้งหมด

ส่วนน้ำอุปโภคบริโภคในปริมณฑลต่าง ๆ ที่มีอยู่น้อยมากนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีการดำเนินการแก้ไขไปแล้ว รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยคาดหวังปัญหาดังกล่าวเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นแต่คงจะเกิดขึ้นน้อยมาก สำหรับภาคการเกษตรจากที่ได้มีการประเมินสถานการณ์นั้นพบว่าภาคเหนือตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยลงมา รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้มีการปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งขณะนี้ใกล้เวลาที่จะเก็บเกี่ยวแล้ว และหากไม่ได้มีการทำนาปรังโอกาสที่จะสูญเสียอาจจะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยหากทุกคนร่วมมือกันก็จะทำให้ส่วนที่ได้มีการเพาะปลูกพืชไปแล้วไม่ได้รับความเสียหาย และส่วนที่ปลูกครั้งที่ 2 หรือปลูกล่าช้าก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดขณะนี้ได้มีการตั้งเป้าหมายจะดูแลประมาณ 3.4 ล้านไร่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไปสำรวจว่ามีพื้นที่ใดเพาะปลูกข้าวบ้าง เพื่อจะที่สามารถพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะหากข้าวที่ปลูกในช่วงเดือนเมษายหรือต้นเดือนพฤษภาคม คาดว่าไม่น่าที่จะได้รับความเสียหายมากนัก

สำหรับการบริหารจัดการน้ำขณะนี้ เป็นการดำเนินการในเวลาที่ค่อนข้างจะวิกฤต เพราะฉะนั้นการวางแผนการบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงสภาพน้ำที่มีอยู่และช่วงเวลาที่ฝนจะตก ซึ่งข้อกำหนดที่เกิดขึ้นขณะนี้เกิดจากสมมุติฐานว่าฝนจะตกในช่วงเดือนสิงหาคม แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ก็จะต้องหามาตรการต่อไปรองรับ เพราะไม่สามารถที่จะควบคุมสภาพอากาศได้ โดยบริเวณที่ประสบปัญหาหนักคือบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีพื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 7 ล้านกว่าไร่

ทั้งนี้ทางด้านเกษตรคงไม่สามารถสนับสนุนน้ำได้ในช่วงนี้ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนในเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค และสามารถรักษาระบบนิเวศไว้ได้ ขณะที่ระบบบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมจากการสำรวจขณะนี้ยังไม่พบปัญหา และสามารถอยู่ได้ด้วยแหล่งน้ำที่มีอยู่ของตนเอง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมแหล่งน้ำรองรับน้ำฝน นอกจากการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้อุปโภคบริโภคให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ ตลอดจนได้มีการเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวรองรับแล้ว โดยทางด้านการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาคยืนยันถ้ามีการบริหารจัดการน้ำโดยปล่อยน้ำ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็ยังสามารถมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนถึงเดือนสิงหาคม แม้ในบางพื้นที่อาจจะประสบปัญหาบ้างเล็กน้อยก็จะมีแหล่งน้ำสำรองไว้รองรับและให้ความช่วยเหลือได้ โดยจะมีการกำหนดช่วงเวลาในการปล่อยน้ำในบางพื้นที่ เพราะฉะนั้นประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องกักตุนน้ำ เพียงแต่ขอความร่วมมือทุกคนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ