พลตรี วีรชน ฯ ย้ำการประชุมสุดยอดเอเปคและการประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประโยชน์ต่อคนไทย เผยนายกรัฐมนตรีร่วมหารือผู้นำเศรษฐกิจโลก เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการและSMEs ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday November 11, 2015 09:24 —สำนักโฆษก

วันนี้ เวลา10.00 น. พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกำหนดการเดินทางเยือนต่างประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2558 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2558

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญและภารกิจหลักในการเข้าร่วมประชุม ดังนี้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2558 คือ การสร้างเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วม การสร้างโลกที่ดีขึ้น (Building Inclusive Economy, Building a Better World) โดยมีวาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ (1.) การส่งเสริมประเด็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Enhancing the Regional Economic Integration Agenda) (2.) การบ่มเพาะการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก (Fostering SME’s Participation in Regional and Global Economy) (3.) การลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Investing in Human Capital Development) (4.) การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง (Building Sustainable and Resilient Communities)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) โดยจะเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่มาจากภายในประเทศ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงนโยบายรัฐบาลในการผลักดันและส่งเสริมให้ SME เป็นวาระแห่งชาติ ให้มีการพัฒนานวัตกรรมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โอกาสนี้ จะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) นั้น จะเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือที่มีศักยภาพและพลวัตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นร่วมกัน

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ช่วงที่ 1 (Retreat I) ประเด็นหลักของการประชุม คือ การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจที่บูรณาการ “Inclusive Growth Through Integrated Economies” โดยไทยจะย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การส่งเสริมการเชื่อมโยงในทุกมิติ และการสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเอเปค

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ช่วงที่ 2 (Retreat II) คือ การเติบโตอย่างครอบคลุมผ่านชุมชนที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น “Inclusive Growth Through Sustainable and Resilient Communities” สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างชุมชนที่มีคุณภาพและแข็งแกร่ง อันสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเสมอภาคทางเพศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความมั่นคงทางอาหาร

ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีจะหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประธานาธิบดีเม็กซิโก ประธานาธิบดีรัสเซีย และประธานาธิบดีโคลอมเบีย ด้วย โดยหลายประเทศให้ความสนใจการดำเนินงาน ตามของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของไทยด้วย

ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจะร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 ประกอบด้วย กรอบความร่วมมือด้านการค้าภาคบริการเอเปค (APEC Services Cooperation Framework) ยุทธศาสตร์เอเปคเพื่อการสร้างความแข็งแกร่งแก่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ (APEC Strategy for Strengthening Quality Growth) และถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค

การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ นั้น

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่จะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยในการประชุมฯ จะมีการประกาศการจัดตั้งประชาคมอย่างเป็นทางการ รวมถึง การเตรียมเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ (2559-2568) ซึ่งกำหนดทิศทางที่สำคัญของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้นำจากประเทศนอกภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมด้วย อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีจีน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีอินเดีย ตลอดจน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยจะย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอกภูมิภาค ทิศทางในอนาคตของอาเซียน พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจา 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ให้เป็นประเทศหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ของอาเซียนด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายใต้แนวคิด “Our People, our Community, Our Vision” และยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นประชาคมอาเซียน โดยไทยจะปฏิบัติตามแผนงานประชาคมอาเซียน ทั้งสามเสา เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 และความสำคัญกับความร่วมมือกับภายนอกภูมิภาคมากขึ้น เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายต่างๆ และจะเสนอให้ใช้โอกาสการรวมตัวกันของอาเซียน สร้างบทบาทที่เข้มแข็งและอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น

โอกาสนี้ ผู้นำอาเซียนจะร่วมลงนามในเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคม อาเซียน ค.ศ. 2015 2) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน 3) อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในโอกาสนี้ ที่จะนำเสนอต่อประชุม โดยให้ความสำคัญของภาคเกษตร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยเกษตรกรอาเซียน เพื่อให้ประชาชนของเอเปคและอาเซียนสามารถเดินหน้าไปด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ เป็นประชาคมเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเจตนารมณ์การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ