รมว.มท.ประชุมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเร่งขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยปี 2559

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2015 14:57 —สำนักโฆษก

วันนี้ (13 ต.ค. 58) เวลา 13.00 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ โซน AB สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) วิภาวดี กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานสำคัญปี 2559 ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด

ในโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจที่ต้องเร่งขับเคลื่อน 3 ส่วน คือ 1. งานตามนโยบายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2. งานภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และ 3. งานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ โดยมีภารกิจสำคัญที่ขอให้ทุกฝ่ายยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในลำดับแรก คือ การขับเคลื่อนงานด้านการปกป้องและการเชิดชูสถาบันหลักของชาติ โดยขอให้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจต่างๆ พร้อมน้อมนำแนวทางพระราชดำริ หลักการทรงงานไปใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน ประการที่สอง การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับคนในชาติ โดยให้สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ไม่ว่าจะเกิดจากกรณีใดๆ ที่เป็นปัญหา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในกลไกของรัฐ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้เกิดความเป็นธรรม เสมอภาค โดยไม่เลือกปฏิบัติ

สำหรับการขับเคลื่อนงานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับความไว้วางใจจาก รัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในหลายด้าน ดังนั้น จึงขอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่เร่งดำเนินงานทุกภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมายให้เกิดผลสำเร็จอย่างรูปธรรม โดยเน้นย้ำการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้ 1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5ล้านบาท) ให้ทุกจังหวัดดำเนินการทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดไว้ รวมทั้งเร่งรัดตรวจสอบกลั่นกรองโครงการจัดส่งให้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 - 18 สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งวันนี้ (13ต.ค.) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จจาก “ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558” เป็น “ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2559” และ เห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน บูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ อปท. และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และด้านอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ที่สำคัญขอให้ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอนให้โปร่งใส โดยให้เผยแพร่ข้อมูลโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนได้รับทราบความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ

2) มาตรการและแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี2558/59 ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและพี่น้องเกษตรถึงการสถานการณ์น้ำ แนวโน้มวิกฤตปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการจัดสรรน้ำที่มีอย่างจำกัด เพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งจากปัญหาการแย่งน้ำ โดยขอให้พี่น้องเกษตรกรได้พิจารณาว่าจะปลูกพืชน้ำน้อย หรือ เสริมอาชีพอื่นๆ ตามความต้องการของพื้นที่ โดยรัฐพร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และให้ “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 ระดับจังหวัด” ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ และนำข้อมูลน้ำที่รัฐบาลได้ดำเนินการสำรวจไว้ และข้อมูลจริงในพื้นที่ที่เป็นปัจจุบัน เป็นตัวตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนโครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 (ตามมาตรการที่ 4 มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง) โดยการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานในภารกิจสำคัญอื่นๆ ที่จะต้อง เร่งดำเนินการในระยะต่อไป อาทิเช่น การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สุดท้ายได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งท้องที่ท้องถิ่นในการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนความห่วงใย ความจริงใจของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ