พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบนโยบายให้แก่ปลัดจังหวัด นายอำเภอทั่วประเทศ ย้ำฝ่ายปกครองต้องทำงานเชิงรุก และประสานพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลลงสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 15:43 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 พ.ย.58) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่ปลัดจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายสำคัญในการดำเนินงานในพื้นที่ของฝ่ายปกครอง โดยวาระแรกได้เน้นย้ำบทบาทการบูรณาการงานของทุกกระทรวงในพื้นที่ของนายอำเภอ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 6 สาย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นความคาดหวังของรัฐบาล ที่จะใช้กลไกเหล่านี้ ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากจะเห็นภาพงานของฝ่ายปกครองที่ส่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นักปกครองท้องที่ ทั้งในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และการพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับชาติ ที่จะต้องทำงานเชิงรุก โดยอาศัยกลไกของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการทำงานด้านการข่าว หาต้นตอของปัญหา โดยนายอำเภอจะต้องรับรู้ ข้อมูล เกี่ยวกับยาเสพติดทุกด้านทั้งผู้ค้า ผู้เสพ แหล่งมั่วสุม ปริมาณยา รวมถึงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

ด้านการพัฒนา รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยจะบริหารผ่านกลไกของแผนพัฒนาจังหวัด หน้าที่ของนายอำเภอ คือไปกำกับดูแลกลไกในพื้นที่ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น ส่วนราชการในอำเภอ นำแผนพัฒนาจังหวัด ไปขับเคลื่อนในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นายอำเภอต้องรู้งานฟังชั่นของทุกกระทรวง ต้องรู้นโยบาย รู้งานที่จะลงไปในพื้นที่ ต้องตอบคำถามประชาชนได้ทุกเรื่อง ข้าราชการฝ่ายปกครองต้องวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อประชาชนด้านความมั่นคง มีวาระแรกที่ สำคัญ คือ

1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ เราต้องเทิดทูนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชน ต้องช่วยกันขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่พี่น้องประชาชาชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

2. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสังคมที่มีความคิดเห็นหรือความชอบที่ต่างกันได้ แต่อย่านำมาสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องประชาชน อย่าให้พี่น้องประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพียงแค่ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยขอให้คำนึงถึงชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ เพื่อนำสังคมสงบสุขกลับสู่สังคมไทยอีกครั้ง

3. การดูแลเรื่องการชุมนุมสาธารณะ ปัจจุบันมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ขอให้ฝ่ายปกครองดูแลการชุมนุมตามอำนาจหน้าที่เพื่อควบคุมให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน ไม่ให้มีการใช้อาวุธ หากพบการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ให้แจ้งกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยด่วน อย่าปล่อยปะละเลย และต้องดูแลควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างเด็ดขาด

4. มาตรการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ ขอให้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ลงไปในพื้นที่ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลังเน้น 4 มาตรการสำคัญ คือ 1) โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆ ละ 5 ล้านบาท ขณะนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติโครงการแล้วจำนวน 74,798 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 62.50 จำนวนเงินที่อนุมัติแล้ว 23,070 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.60 เบิกจ่ายแล้ว 1.177 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยใช้กลไกในพื้นที่ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยให้นายอำเภอดูแลติดตามข้อมูลทุกๆ ด้าน และทุกโครงการให้เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบของกฎหมาย 2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณ 4,532 โครงการ เป็นเงิน 2,638 ล้านบาท มีการก่อหนี้ผูกพันแล้วจำนวน 1,820 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69 จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการบริหารและเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด 3) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือ กองทุนหมู่บ้าน ขอให้เข้าไปประสานดูแลการดำเนินงานของกองทุนไม่ให้เกิดปัญหาหรือไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียในภายหลัง รวมทั้งให้นายอำเภอเข้าไปดูแลช่วยเหลือต่อยอดการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาอาชีพ และการจัดหาตลาดรองรับ เป็นต้น 4) โครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและให้ความสำคัญกับฝ่ายปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในการสำรวจความต้องการของประชาชน จึงขอให้เน้นการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ โดย ประชาชนต้องสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ ตามแนวทาง “ประชารัฐ” โดยทีมระดับจังหวัด ระดับอำเภอ โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งอำเภอ ร่วมกับ คณะกรรมการระดับตำบล ทีมประเทศไทย จะต้องทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากส่วนกลางและจังหวัด ทั้งปริมาณน้ำ พื้นที่ประสบภัย ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และนำข้อมูลสินค้า/บริการต่างๆ ที่เป็นความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปเสนอให้ประชาชนเป็นทางเลือกในการเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือเปลี่ยนอาชีพ เน้นย้ำ ถึงมาตรการในการป้องกันการทุจริต ของการดำเนินงานทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามระเบียบให้เกิดความโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากทุกภาคส่วน

และได้เน้นย้ำอีกครั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นความห่วงใยอย่างยิ่งต่อเยาวชนของชาติและสังคม โดยเน้นการลดความต้องการไม่ให้คนเข้าไปเสพ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราต้องลดเรื่องนี้ลงให้ได้ ฝากฝ่ายปกครองช่วยกันทำให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา

เรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ - IUU ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ดังนั้น หน่วยงานราชการของไทย จะต้องเตรียมความพร้อมกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและต้องเฝ้าระวังติดตามในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของเรื่องอื่นๆ เช่นการยกระดับโอทอป ต่อยอดสู่สากล ขอให้นายอำเภอช่วยเข้าไปดูแล เรื่องของสินค้า ในพื้นที่ให้มีมาตรฐานยิ่งๆ ขึ้น ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด หาตลาดรองรับสินค้า และให้องค์ความรู้ต่างๆทางด้านการผลิต ด้านเงินทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าโอทอปในทุกๆ ด้าน

เรื่องการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวการดูแลความสะอาดของแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญในพื้นที่อำเภอ โดยให้บูรณาการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทั้งเรื่องความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก ถนนหนทาง ความสะอาด ไม่ให้มีปัญหาขยะในพื้นที่ รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยเครื่องเล่นที่มีความเสี่ยง หรือ กระเช้าลอยฟ้าที่มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ลวดสลิงค์ในพื้นที่ให้ปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้งาน

สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการประทรวงมหาดไทย ได้ฝากให้ทุกพื้นที่ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะมีการปล่อยโคมลอย โคมควัน การเล่นพลุ ท่าเรือ โป๊ะ ที่มีประชาชนสัญจรขอให้ดูแลให้มีความปลอดภัยกับประชาชน และฝากให้ทุกคนร่วมกันทำงานที่ลงไปในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดประโยชน์สุขของส่วนรวม และประเทศชาติเป็นสำคัญ.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ