สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวใน รายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday December 14, 2018 15:24 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 20.15น. ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ – หนองคาย และเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่เรียกว่าว่า “เกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้าและการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ที่มีจุดเน้นการพัฒนา ได้แก่ (1) การเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (2) แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และ (3) การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดบึงกาฬมีโครงการตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ 1. โครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชน 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 850,000 ไร่ มากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก จึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา และขับเคลื่อนเพื่อเป็นศูนย์กลางยางพาราในด้านต่างๆ นอกจากนี้ พร้อมยังเป็นศูนย์กลางการส่งออกยางพารา ซึ่งผลผลิตยางพาราจะส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังและประเทศจีนตอนใต้ สำหรับจังหวัดหนองคายมีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากระบบประปา 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือ OTOP และ 3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการลงพื้นที่ทุกครั้ง ไม่ใช่เพียงการติดตามการดำเนินงานของข้าราชการ และกลไกประชารัฐในพื้นที่เท่านั้น แต่คิดว่าเมื่อผมได้ร่วมกับประชาชนปลูกต้นไม้ – ปลูกป่าแล้ว คงต้องลงไปช่วยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อดูแลให้ต้นไม้ของเรา เติบโต งดงาม และผลิดอกออกผลที่สมบูรณ์ด้วย และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราไม่ดูแลชุมชนของเรา บ้านเมืองของเรา หรือถ้ารัฐจะทำอะไรไม่ไถ่ถามประชาชน ไม่ใส่ความต้องการของประชาชน ก็คงจะยากที่ถึงจุดหมาย คือ “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” แต่ต้องเคารพในกฎหมาย กฎกติกา ต่าง ๆ ด้วย เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศต้องช่วยกันดูแลชุมชนและบ้านเมืองของเรา เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมผลงานชาวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ได้มีการรวมกลุ่มนักพัฒนาชุมชน ศึกษากรณีในประเทศอินเดีย ที่ใช้ภาชนะที่ผลิตมาจากกาบหมากแทนการใช้กล่องโฟม ซึ่งสามารถใช้แล้วล้างนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 9 -10 ครั้ง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยมีการระดมทุนจากนักธุรกิจในจังหวัดเลย สั่งซื้อเครื่องปั๊มมาจากประเทศอินเดีย สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งช่วยลดขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย ตามแนวทางพลังงานประชารัฐที่สร้างสรรค์

ในส่วนของการเติบโตของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขยายตัวและการพัฒนาของธุรกิจการค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดร้านค้าสมัยใหม่และห้างร้านขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ส่งผลต่อการค้าขายของร้านค้าเล็ก ๆ หรือโชห่วย ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันมีร้านค้าโชห่วย ประมาณ 370,000 ร้านค้า ซึ่งหลายร้านต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำมาค้าขาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของร้านค้าสมัยใหม่ ต้นทุนที่สูงขึ้น ความสามารถทางการแข่งขันน้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ดึงดูดลูกค้า และมีสินค้าที่ครบ ดังนั้น ภาครัฐจึงได้หาแนวทางในการช่วยเหลือสนับสนุน ดังนี้ 1. โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 2. การนำโมเดล “โย๋ เล่อ” ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า โดยเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็ก ๆ ในชนบท และ 3. โครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ระหว่างธุรกิจด้วยกันเองผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ เป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้า จากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการประสานงาน การรวมกลุ่ม การให้ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้

ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต็อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมกราคม 2562

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในรายการ ฯ ว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไปด้วยกัน ช่วยกันผลักดันไปพร้อม ๆ กัน พัฒนาประเทศเพื่อมุ่งไปสู่ Thailand 4.0

………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ