คำกล่าวแถลงผลงานรัฐบาลปีที่ 4 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Saturday February 2, 2019 16:21 —สำนักโฆษก

สวัสดีครับวันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือการแถลงผลงานของรัฐบาลปีที่ 4 ประการหนึ่งที่ผมเคยพูดไปแล้วว่า การจะทำงานใหญ่ใด ๆ ก็ตาม จะต้องรู้ว่าจะต้องทำงานเล็กตรงไหนอย่างไร ถ้าพูดถึงเป้าหมายสุดท้ายอย่างเดียวก็ไม่รู้ว่าวิธีการทำงานจะมาอย่างไร หลายเรื่องเกี่ยวพันกับงบประมาณ เกี่ยวพันกับกฎหมาย เกี่ยวพันกับระเบียบวิธีบริหารราชการ ทุกอย่างต้องมีการปรับแก้ทั้งหมดจึงจะดำเนินการได้

บ้านเมืองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วนั้น เราทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งแตกแยก การลงทุนหยุดชะงัก ภาครัฐต่าง ๆ การทำงานก็มีปัญหาไปทั้งหมด และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความขัดแย้งรุนแรงก็เกิดขึ้นจนถึงเดือนพฤษภาคม นั่นคือเหตุผลและความจำเป็นที่ผมมายืนอยู่ตรงนี้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ตัดสินใจที่จะมาควบคุมสถานการณ์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเราได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศไว้ 3 ระยะ ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม นี้

การที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นั้น โดยสานต่อจากภารกิจของ คสช. ในระยะแรก ความมุ่งหมายกล่าวไปแล้ว ยุติความขัดแย้ง สร้างความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคม วางรากฐานการปฏิรูปประเทศ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ยกระดับเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมศักดิ์ศรีของไทยในเวทีโลก เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งในวันนี้และวันหน้า

การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนหลายเรื่อง เช่น การช่วยเหลือชาวนา จ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท แก้ปัญหาการจ่ายเงินจากการจำนำข้าวของชาวนา ดำเนินการด้วยความรวดเร็วและทั่วถึง ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ฯลฯ จัดระเบียบรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ ชายหาด ทางเท้า แน่นอนต้องมีปัญหาเพราะอยู่กันมานาน ก็ต้องแก้ไขให้เขา และจะดูแลเขาอย่างไร และเมื่อจัดระเบียบแล้วก็กำลังทยอยดำเนินการระยะที่สองอยู่ ครั้งแรกต้องเอาทุกคนเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายก่อน และเดี๋ยวก็พิจารณาดูว่าตรงไหนเดือดร้อน หรือไม่เดือดร้อน อันไหนจะผ่อนผันได้ก็ทำกันไป วันนี้อยู่ในขั้นตอนตรงนี้ ก็ขอร้องให้ใจเย็น ๆ นิดหนึ่ง การแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีอยู่น้อยมากในขณะนั้น ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือ NGV และปรับราคาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง อันนี้ก็เปิดเผยทั้งหมด

ภาพรวมสถานการณ์ประเทศไทย ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัว 1.0% ในปี 2557 เป็น 4.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ไม่ได้ง่ายนักจาก 1 เป็น 4 และคาดว่าทั้งปี 2561 จะขยายตัว 4.2% ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ 1.2% หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 41.7% นี่คือตัวเลขสำคัญ อย่ามาบิดเบือน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60% เราไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำไปถึง 60 ให้น้อยที่สุดเท่าที่ดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องดูเรื่องการพัฒนาประเทศด้วยในระยะเร่งด่วน มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 201.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับต้น ๆ ของโลก แล้วก็เพิ่มขึ้นตามลำดับมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ลดลง

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2561 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 ดีขึ้นกว่าปี 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ นี่คือที่เราลงทุนลงไปจะกลับเข้ามาแบบนี้ จะไปเพิ่มอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร ถ้าถนนดี เส้นทางดี เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและวิทยาศาสตร์ดี ไม่ใช่ว่าสร้างถนนก็คือถนน ไม่ใช่ สร้างถนนเพื่อสร้างโอกาส เข้าใจให้ลึกซึ้งไปอีกด้วยนะครับ

1) ดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ปี 2561 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 22 อันดับ

2) ดัชนีโลจิสติกส์ปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 32 ของโลกในปี 2561

3) ดัชนีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 73 ของโลกดีขึ้น 4 อันดับ

4) ดัชนีนวัตกรรมโลก ปี 2561 อยู่ในอันดับ 44 ดีขึ้น 7 อันดับ เป็นต้น

5) ที่ได้มาเมื่อเช้าคือเรื่องเสรีภาพ เศรษฐกิจโลก ไทยดีขึ้น 10 อันดับ ไปดูที่ดี ๆ เยอะ

6) ธนาคารโลกมั่นใจว่าเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแรง ประเทศไทยคาดการณ์อีก 2 ปีข้างหน้าก็ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

7) ดัชนีคอร์รัปชันถึงแม้ว่าจะลดลง แต่ก็ในบางประเด็นย่อยซึ่งมีหลายอย่างที่ดีขึ้น ที่ยังไม่ดีก็แก้ไขกันต่อไป ไม่ใช่จับแต่เรื่องไม่ดี เรื่องดี ๆ ก็เลยไม่พูดกัน ประเทศของใคร ประเทศของเรา แผ่นดินนี้แผ่นดินของใคร แผ่นดินของเราทุกคน เพลงก็บอกเมื่อสักครู่นี้ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองและการสื่อสารจากหลายฝ่าย ซึ่งเราพูดจาให้ร้ายกันไปเรื่อย ๆ ความเชื่อมั่นเชื่อถือก็ไม่ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องประเมินออกมา เวลาเขาบอกมาเราก็แก้ไข แต่ก่อนนี้อยากจะบอกว่าไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เลย น้อยมาก เพราะฉะนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในภาพรวม ต่างประเทศก็เชื่อมั่นในเรื่องการค้าการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการลงทุนทั้งสองฝ่ายเสมอ เรียกว่าการต่างตอบแทนทำนองนี้ เราไปลงทุนเขา เขามาลงทุนเรา เราค้าเขา เขาก็ค้าเรา แต่ทั้งหมดมีพันธสัญญามากมาย ซึ่งต้องเจรจา ต้องตกลงอะไรต่าง ๆ สัญญาทางการค้า สิทธิประโยชน์การลงทุน ต้องแข่งขันกันทั้งสิ้นในวันนี้ ถ้าไม่มีตัวเลขพวกนี้มาก็แข่งขันกับเขาไม่ได้ ไม่มีตัวชี้วัดอะไรเลย ไม่ได้

ในขณะนี้พูดถึงช่วงที่ 2 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เรามียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผมจะพูดสรุปงานในแต่ละกลุ่มของยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง

วันนี้ ประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คนไทยมีส่วนร่วม อย่าบอกว่าไม่มีส่วนร่วม เขาก็สร้างการรับรู้ไปตามมาตราต่าง ๆ ก็ไปแล้ว มีการเปิดเวทีต่าง ๆ มากมายในทุกจังหวัด หลายคนบอกไม่รู้เรื่อง ไปอยู่ที่ไหนกันมา ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการ “ระเบิดจากข้างใน” และการทำงานของรัฐบาลในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมานั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ดังนี้

เรื่องแรกที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ คือ ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ซึ่งก็เกี่ยวข้องทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีเป้าหมายเพื่อสร้างประเทศชาติให้มั่นคง ประชาชนมีความสุข ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ สิ่งแรกที่ความมั่นคงเขาทำ คือในเรื่องของรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะในน้ำ ทางทะเล บนอากาศ บนบก ไม่มีการล่วงล้ำอธิปไตยชายแดน นั่นคือสิ่งที่เป็นประเด็นหลัก ข้างในถึงจะได้เรียบร้อย ข้างนอกไม่มีอะไรเข้ามาก็เรียบร้อย แก้ปัญหาต่าง ๆ ตามแนวชายแดนทั้งหมด ลักลอบค้ามนุษย์ชายแดนต่าง ๆ มีหมดครับ ชายแดนทุกอย่างเข้ามาตรงนั้นหมด ถ้าเราไม่มีกำลังไปปิดกั้นไปดูแล ยิ่งจะเละไปกว่านี้ บอกไว้ด้วย

เรื่องที่สองคือเรื่องของการรักษาความมั่นคงภายใน เราดูความสงบสุขร่วมกับพลเรือน ตำรวจ ทหาร คือทหารเขาก็ร่วมมือกัน ประชาชนก็ต้องอยู่ในส่วนเฝ้าระวังตรงนี้ด้วย งานที่สามของฝ่ายความมั่นคงคือในเรื่องงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ในการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติและอื่น ๆ ตามที่หน่วยราชการร้องขอ

ในเรื่องของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การรักษาความสงบมั่นคงภายใน เราควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จัดระเบียบสังคมในทุกมิติ และทำให้การบริหารงานของภาครัฐและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ นี่คือระยะที่สองที่เราทำต่อเนื่องกันมาอยู่ตลอด

การปราบปรามอาชญากรรม คดีการทำร้ายร่างกายลดลง จาก 24,264 คดี ในปี 2557 เหลือ 18,298 คดี ในปี 2560 ต้องช่วยกันแก้ว่าทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้จะลดลง ความใจร้อนหรือการที่ไม่นึกถึงผู้อื่น เอารัดเอาเปรียบเขา ก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคม จะเห็นได้ว่าอยู่ตามโซเชียลมีเดียมากมาย บางทีก็เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความมั่นคง

การรักษาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จะต้องแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งป้องกัน ปราบปรามแก้ไขและฟื้นฟู ดูแลผู้ติดยาเสพติดให้กลับไปสู่สังคม ถ้าใครยังไม่ดีก็ปรับปรุงใหม่ ต้องหามาตรการซ้ำสองซ้ำสามจะทำอย่างไรกันต่อไป ต้องไปทีละขั้นหมด มีความร่วมมือขจัดสารตั้งต้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในภูมิภาค แสวงหาความร่วมมือกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของทุกประเทศในโลกนี้ ในแต่ละภูมิภาคด้วย เพราะไม่ได้เกิดในข้างในของเรา ส่วนใหญ่จะผลิตออกมาจากภายนอก นำเข้ามา ก็เห็นมีการปะทะจับกุม ดำเนินคดีมากมายในช่วงนี้ ช่วงที่รัฐบาลนี้เข้ามา กรุณาไปตามในเรื่องเหล่านี้ด้วย

มีการป้องกันกลุ่มเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนนอกสถานศึกษา กลุ่มแรงงาน และประชาชนทั่วไป

ปราบปรามยาเสพติด มีการยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด 2,237 คดี มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอื่น ๆ มากกว่านั้น นี่เป็นสรุปตามระยะเวลามา มีการจับกุมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด มีทั้งมาตรการการย้าย การให้ออก และปลด ไล่ออก ไม่มีเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และติดคุกดำเนินคดีด้วย มีมากมาย

การปลดธงแดง ICAO (วันที่ 5 ตุลาคม 2560) ยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของไทย ส่งผลให้สายการบินสามารถเพิ่มเส้นทางการบินให้เหมาะสมกับแผนธุรกิจ และขยายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การซ่อมอากาศยาน การผลิตอะไหล่อากาศยาน และการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมในเรื่องของกิจการเกี่ยวกับเรื่องการบิน การซ่อมอากาศยานเหล่านี้ทั้งระบบ

การปลดใบเหลือง IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย (วันที่ 8 มกราคม 2562) โดยการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมากขึ้น อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ต้องแก้กันไป เราต้องเอาหลักฐาน เราต้องเอาหลักการ เหตุผล กฎหมายมาดู ว่าจะมีผลกระทบกับใครอย่างไร และเราก็แก้ปัญหาไป ถ้าเราไม่มีมาตรฐานกลางออกมา ก็ทำงานกันไม่ได้ ก็ตีกันไปหมดเหมือนเดิม แก้ไขไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

จากวันนี้เท่าที่ได้รับรายงานมาคือทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในปี 2561 มากกว่าปี 2560 ถึง 200,000 ตัน ตลาดส่งออกต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะนี้การส่งออกสินค้าประมงไปกลุ่ม EU ก็สูงขึ้นกว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมงไทย วันนี้เราไปปรับระบบของชาวประมงไทย ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงในน่านน้ำต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ดูแลแก้ปัญหาให้เขา แต่ถ้าจะบอกว่าให้แก้กลับไปที่เดิม แก้ไม่ได้หรอกครับ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายในภาพรวม

แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้ไทยได้รับการปรับสถานะ TIP Report จาก Tier 3 มาเป็น Tier 2

แก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา โดยสหรัฐฯ ได้เลื่อนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยจาก Priority Watch List (PWL) เป็น Watch List (WL) ไม่ง่ายนักหรอก

เรื่องการปฏิรูปตำรวจ 1. มีคณะทำงานของ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ร่างกฎหมายส่งรัฐบาลแล้ว รัฐบาลต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษตรวจอยู่ ได้แก้ไขให้เป็นสองฉบับ 1) คือ พระราชบัญญัติตำรวจ หรือโครงสร้างระบบโยกย้าย เพิ่มบทบาทสถานีตำรวจ 2) พระราชบัญญัติสอบสวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับฟังความคิดเห็น เขาเสนอภายในที่กฎหมายกำหนดว่าภายใน 1 ปี ภายใน 1 ปีเสนอมา แล้วเราก็หาวิธีการแก้ปัญหา ต้องแก้กฎหมายหลายตัว แก้วิธีการปฏิบัติหลายตัว การปรับองค์กรภายใน ดำเนินการไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่พูดครั้งเดียวแล้วจบทีเดียว ไม่ได้หรอก ต้องเข้าใจตรงนี้

บางเรื่องรัฐบาลแยกเป็นฉบับปลีกย่อยตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเดินหน้าไปก่อนแล้ว เช่น เวลาสอบสวนต้องถ่ายวีดิโอ สอบสวนให้ผู้ต้องหามาทำแผนไม่ได้ แจ้งความได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะแจ้งที่เกิดเหตุเท่านั้น ร่างพระราชบัญญัติตำรวจฉบับหลักอาจจะออกต่อจากนี้ไป แต่ไม่ตกไป ก็จะเสนอต่อไปตามแผนปฏิรูปให้ทำต่อ วันนี้ในเรื่องการสอบสวนที่หลายคนก็ไม่ไว้วางใจ มีการตั้งช่องทางในการร้องทุกข์ได้ ขอให้มีการสอบสวนร่วมระหว่างตำรวจและอัยการ ก็มีอยู่แล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ดำเนินการปฏิรูปไปแล้วในบางเรื่องที่สำคัญ เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ยึดถือตามหลักอาวุโส พิจารณาร่วมกับขีดความสามารถ ผลงานและความเหมาะสม โดยจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาทุกระดับ ตั้งแต่กองบังคับการ กองบัญชาการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นไม่ง่ายนักหรอก

2. ยกระดับการบริการในสถานีตำรวจให้เกิดความรวดเร็ว ปฏิบัติงานสอบสวนเชิงรุก ปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวน รวมทั้งให้พนักงานสอบสวนมีแนวทางรับราชการที่ดีขึ้น 3. กระจายงานที่เดิมกระจุกอยู่ในส่วนกลาง เช่น การปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทางคอมพิวเตอร์ลงไปสู่ในภูมิภาค

เรื่องการบรรเทาสาธารณภัย มีการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ในระหว่างปี 2557 - 2561 รวม 49,880 ล้านบาท ซึ่งลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนนี้ปีละ 20,000 – 30,000 ล้านบาท นี่ 4 ปี 49,880 ล้านบาท เพราะอย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงเรื่องอุทกภัย ภัยธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องดูแลเขาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จะเห็นได้ว่าเราก็แก้ปัญหาลงไปได้เยอะพอสมควร จากปีละ 20,000 กว่าล้านบาท ก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ถ้าลดลงไปเรื่อย ๆ เงินจำนวนก็จะกลับมาทำอย่างอื่นได้ หลายอย่างต้องไปดูแลแบบนี้ เพราะฉะนั้นถึงต้องทำให้ทุกอย่างเข้มแข็งด้วยตัวเองด้วย อะไรด้วย ระเบิดจากข้างในบ้าง อะไรบ้าง รัฐบาลจะได้ดูแลได้ เอาเงินมาทำอย่างอื่นได้อีกเยอะแยะ

การจัดระบบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย รัฐบาลเปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ คุ้มครองแรงงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วยกัน

การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดำเนินงานผ่านกลไกพูดคุยเพื่อสันติสุข เรื่องนี้อยู่ในยุทธศาสตร์ เรามียุทธศาสตร์ถึง 9 ยุทธศาสตร์ อันนี้อยู่ในหนึ่งยุทธศาสตร์ก็ต้องทำ เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมโลกเขาเห็นว่าเราก็ทำตามมาตรฐานของสากลเขา มีการพูดคุยอะไรต่าง ๆ แต่เราไม่ใช้การเจรจาเพราะเราไม่ได้รบกับใคร ถ้าเจรจาต้องรบกันทั้งเมือง เขาเรียกเจรจา ยึดพื้นที่อยู่อะไรอยู่ อันนี้ของเราเข้าได้ทุกพื้นที่ แต่มีการลักลอบ การทำร้ายต่าง ๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ทุกครั้งที่เราสามารถดำเนินการได้จนได้ผลดีนั้น ลดสถิติลงไป ก็จะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะว่าเขาต้องการที่จะดึงเอาความหวาดกลัวมาให้ประชาชนนั้นไม่ร่วมมือกับรัฐ นั่นอันตรายที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปขยายความรุนแรงของเขา เสนอข่าวแต่พอสมควร ไม่ใช่ไปติติงเจ้าหน้าที่จนเขาหมดกำลังใจในการทำงาน จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลุกลามบานปลายไปเหมือนกับต่างประเทศเขา แล้วเราจะทำอย่างไร คิดในมุมนี้บ้างนะครับ เราต้องทำงานด้วยกฎหมาย วันนี้ต้องทำทั้งรุก รับ ป้องกันต่าง ๆ เป้าหมายอ่อนแอ เป้าหมายมีเท่าไร คนภาคใต้มีเท่าไร ไม่รู้จะเกิดขึ้นกับใคร และเกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่ ใน 3 จังหวัด เราต้องการให้บานปลายออกข้างนอกพื้นที่หรืออย่างไร ยิ่งขยายความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น เขาก็ได้ใจมากยิ่งขึ้น เป็นที่จับตามองของต่างประเทศ แล้วเขาก็เข้ามาแก้ปัญหา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น คิดในมุมนี้ด้วยนะ บรรดาสื่อต่าง ๆ หรือผู้รู้ต่าง ๆ ทั้งหมด

ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต้องนำ ใช้การเมืองหรือการพัฒนา การพัฒนานำการทหาร การทหารบอกแล้วเป็นในเชิงป้องกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้อาวุธต่าง ๆ ก็จำเป็น เราไม่ได้ใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ถ้าใช้แบบนั้นก็เท่ากับต้องมีการสูญเสียกันมากมาย ทั้งคนบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เพราะแยกกันไม่ค่อยออก เพราะปลอมปนมาเป็นประชาชนทั่วไป อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่รู้อยู่แล้ว ว่าใครเป็นใคร แจ้งเจ้าหน้าที่ทางลับเขาก็แก้ปัญหาให้ จะได้ลดคนพวกนี้ลงไปให้ได้มากที่สุด วันนี้ก็มีข่าวในเรื่องของการฝึกคนใหม่อะไรขึ้นมา เราก็อย่าไปขยายความให้เขา ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมต่อไป เป็นเส้นคาบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการปฏิบัติตามกฎหมาย เข้าใจตรงนี้ด้วย ทำผิดกฎหมายแล้วไปบอกว่าผิดกฎหมาย แล้วเราไปจับกุมแล้วบอกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการที่เจ้าหน้าที่ไปทำร้ายเขา ไปสอบสวนใช้ความรุนแรง เขาเรียกสิทธิมนุษยชน เพราะเขาผิดอยู่ก็ลงโทษ ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่งฟ้องอะไรไป ก็ว่าไป

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เราจะต้องพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาล เรื่องยาง เรื่องอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องรวมกลุ่มกันมาเพื่อจะพัฒนาต่อไปให้ได้ ทำให้ประชาชนนั้นเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น วันนี้กำลังขับเคลื่อนในเรื่องของเร่งรัดในเรื่องโรงงาน ไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในรัฐบาลนี้ให้ได้ สำหรับประชาชนกว่า 146,000 คน ให้ได้รับความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 และอื่น ๆ

การสร้างความภาคภูมิใจและการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศต่าง ๆ มีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเข้ามาบริหารประเทศและความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนี้ และมีท่าทีให้การยอมรับ มีท่าทีที่ดีขึ้น เราก็ไม่ได้ไปหลงตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดีกว่า ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เขาชมแล้วก็หยุด แล้วก็เลิก ไม่ใช่ เพราะมีคนโจมตีอยู่ ทั้งคนบริสุทธิ์คนไม่บริสุทธิ์ แล้วรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะฉะนั้นทำให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ทำงานได้ช้า มีข้อขัดแย้งมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรามองตรงนี้ว่า ที่เขาให้การยอมรับ ยอมรับเพราะอะไร เราเห็นได้จากอะไร คือการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ที่เขาตอบรับผมทั้งหมด ประเทศประชาธิปไตยจากทั้งหมด สังคมประชาธิปไตยหมดเลย สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็ครบแล้ว ตะวันตกและกลุ่มประเทศ EU และประเทศอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะในอาเซียนด้วยกันทั้งหมด มีการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ เพื่อสานความสัมพันธ์และส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก รวม 64 ครั้ง ไปประชุมมา 64 ครั้ง ไม่ได้ไปซื้อของ ไม่ได้ไปเที่ยว เข้าใจด้วย ไม่เคย

ประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม G77 ปี 2559 สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เป็นแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้นโยบาย SEP for SDGs Partnership ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนา 24 ประเทศ ใน 177 ประเทศ เขาเอาไปใช้ด้วย ประเทศไทยไม่เคยเอาไปพูดกล่าวถึงก่อน ๆ นี้ ไม่มีเลย ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เลย ทั้ง ๆ ที่โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สหประชาชาติเขาก็ให้ความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยกล่าวถึงเท่าไร ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน วันนี้ 24 ประเทศที่กำลังพัฒนาได้นำไปประยุกต์ใช้

เราได้เป็นประธานการประชุมสุดยอด ACD ในปี 2559 และมีการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ในปี 2562 ที่ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ ผ่านภายใต้แนวคิด หรือ Theme ที่เรากำหนดไว้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลและยั่งยืน” เราจะผลักดันประเด็นต่าง ๆ อาทิ การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค เพื่อสันติภาพ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนกับภูมิภาคอื่น เพื่ออาเซียนที่ไร้รอยต่อ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเสนอแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ของประเทศไทย ที่ส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นสมัยนี้ ACMECS คือการรวมกลุ่มประเทศรอบบ้านที่มีดินแดนติดกับเรา คนละอันกับเรื่องของกลุ่มของลุ่มแม่น้ำโขงต่าง ๆ ก็อีกเรื่องเป็นของเดิม วันนี้มี ACMECS เฉพาะลงมาอีก และมีการหารือในเรื่องการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้นมา มีเกาหลี สหรัฐฯ ก็มีเจตนาที่จะสนับสนุนด้วย ก็ต้องหารือกันต่อไป

ประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกประเภท Participant ของ OECD ด้านดิจิทัลและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราก็จะทำงานในกรอบของ OECD มาตลอด นี่เป็นมิติในเรื่องของภูมิภาค เรื่องของโลก เราก็ต้องทำ ทำภายในประเทศอย่างเดียวไม่พอ ไม่ได้ เพราะเราต้องเชื่อมโยงโยงกับต่างประเทศเขาด้วยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในระดับนานาชาติ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ นี่คือยุทธศาสตร์ที่ 1 มีอีกเยอะแยะ ถ้าจะพูดกันก็เยอะ ก็ไปถามดูอีกทีแล้วกันว่าใครที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเขาทำอะไรอีก ผมอาจจะพูดได้ไม่ครบ ต้องขอโทษด้วยนะครับ เพราะถ้าพูดครบก็เย็นนี้ไม่เลิก เพราะทำ 5 ปีจะจบเร็ว ๆ ไม่ได้หรอก ผมจะพูดถึงหลัก ๆ ไปก่อน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ โดยมีการ “ต่อยอดอดีต” “ปรับปัจจุบัน” และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” อดีตคืออะไร อะไรคือความล้มเหลว อะไรคือสิ่งที่ดี ถ้าดีก็พัฒนาต่อ ล้มเหลวก็แก้ไข หยุด ยุติ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะพูด แล้วก็ปรับปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อจะเดินหน้าไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ อนาคตใหม่ให้กับประเทศ ในการเดินหน้าไปสู่อนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเราในการแข่งขัน ที่เราทำไปแล้วก็คือ

1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ครอบคลุมทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ วงเงินรวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อย่าไปตกใจ เป็นการลงทุนในกรอบใหญ่ เสร็จแล้วข้างในแต่ละโครงการมีการลงทุน PPP วันนี้เราใช้วิธีการ PPP คือรัฐร่วมเอกชนในการบริการ ใช้ประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณใหญ่เท่านั้น เพราะที่เหลือเขาเป็นคนลงทุนเอง รัฐบาลก็จะมีการลงทุนร่วม มีงบประมาณบ้าง มีที่ดินบ้าง แต่ทั้งหมดทุกอย่างนั้นจะกลับมาเป็นสมบัติของไทยเมื่อสิ้นสัญญาแล้ว ไม่ได้ยกให้เขาไป จำคำพูดผมไว้นะ อย่าบอกว่าขายที่ดิน ขายประเทศ ขายอะไรต่าง ๆ เพราะทุกอย่างนี้เป็นกลไกในการลงทุน ในการค้า ในการลงทุนของทุกประเทศในโลกใบนี้ แต่เราจะไม่ยอมให้ไปเลย แม้กระทั่งต่อสัญญาก็อยู่ในกรอบ 49 ปี ถ้าจะต่อใหม่ก็ต่ออีกได้ระยะหนึ่ง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็น มีกำหนดอยู่แล้ว กฎหมายเดิมมีทุกตัว กฎหมายใหม่ก็มีแค่บางอย่าง ลักษณะที่ดำเนินการได้ เช่น กรอบ EEC บ้างอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นการลงทุนเราเน้นในเรื่องของ PPP ไม่ใช่การลงทุนภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่พอหรอกครับ ขาดไปตั้งเยอะ คำว่าขาดไปเยอะคือ ที่ผ่านมาทำน้อยเกินไปในบางเรื่อง ซึ่งไม่มีผลกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย

(1) เรื่องพัฒนาระบบขนส่งทางราง จากเดิมที่มีอยู่ 359 กิโลเมตร ที่เขาสร้างมา ทางคู่ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะต้องเพิ่มขึ้นให้เป็น 3,531 กิโลเมตร ทำไปแล้ว 3,531 กิโลเมตรทางคู่ ทางรถไฟที่เพิ่มเติม เพราะฉะนั้นในตรงนี้ก็คือ
  • เร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 993 กิโลเมตร เช่น ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอยชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น
  • เร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง 472 กิโลเมตร ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นการลงทุนของเราเอง ผมเคยบอกแล้วว่าไม่มีประเทศไหนที่เขาจะมาลงทุนในลักษณะนี้ เขาต้องสัมปทาน และสัมปทานอื่น ๆ ไปด้วย ซึ่งเราให้ไม่ได้ สองข้างทางเราให้ไม่ได้ เพราะเราต้องการสงวนไว้สำหรับที่จะเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ต้องลงทุน การกู้เงินต่าง ๆ ก็ต้องกู้ ที่ไหนก็ได้ ไม่รังเกียจใคร แต่ต้องดอกเบี้ยน้อยที่สุด ไม่มีนอกในทั้งสิ้น
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) กำลังเร่งดำเนินการอยู่ ในปี 2562-2565 มีแผนขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทาง 2,164 กิโลเมตร เราจะเพิ่มโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง 1,234 กิโลเมตร เดิมมีตัวเลขแบบนี้มาไหม นี่กำลังทำไปแล้ว ใกล้จะเสร็จแล้ว อยู่ในโครงการ บางอันอยู่ในแผนที่จะต้องส่งในแผนแม่บททำต่อไป เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับเขาจะทำหรือเปล่า นี่จะทำทั้งระบบ เชื่อมโยงทุกพื้นที่ นี่คือรถไฟ นี่คือทางรถ จะมาแจมกันอย่างไร Feeder กันอย่างไร ไปคิดอย่างนี้
(2) พัฒนาโครงข่ายถนน
  • เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 324 กิโลเมตร ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา บางใหญ่-กาญจนบุรี พัทยา-มาบตาพุด
  • พัฒนาทางหลวง 4 ช่องจราจร 1,050 กิโลเมตร
  • เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง 3,365 กิโลเมตร

และในปี 2562 - 2565 มีแผนผลักดันมอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง 221.3 กิโลเมตร เช่น นครปฐม-ชะอา หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร 1,429 กิโลเมตร เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางอีก 3,085 กิโลเมตร เน้นการใช้ยางในประเทศด้วย

(3) การพัฒนาท่าอากาศยาน
  • เพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 23 ล้านคนต่อปี
  • เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลัก คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 2 และ 3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค 7 แห่ง ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานเบตง
(4) การพัฒนาท่าเรือ
  • ผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือระดับโลก
  • เปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่พัทยา-หัวหิน
  • เปิดสถานีเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 19 แห่ง
  • เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งในแม่น้ำป่าสักและเจ้าพระยา

และในปี 2562 - 2565 มีแผนพัฒนาท่าเรือสงขลา ท่าเรือบก จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลภูเก็ต-พังงา-กระบี่ พัฒนาเส้นทางการเดินเรือเฟอร์รี่ฝั่งอ่าวไทย 5 เส้นทาง เพิ่มสถานีเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แห่ง

(5) พัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ
  • เปิดให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 2 สาย 24 กิโลเมตร คือ สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ และสายสีเขียว แบริ่ง-สำโรง
  • เร่งรัดก่อสร้าง 7 สาย 169.9 กิโลเมตร เช่น สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี

จะต้องไปดูเรื่อง PM ด้วย อะไรต่าง ๆ จากการก่อสร้าง ต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือ PM 2.5 อะไรคือ PM 10 มาจากที่ไหน ต้องระมัดระวังต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการก่อสร้าง

  • นอกจากนี้ ยังเตรียมประกวดราคาอีก 3 สาย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 3 โครงการ รวมระยะทาง 92.2 กิโลเมตร
2) การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ โดยได้ออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2561 เพื่อรองรับการดำเนินการที่สำคัญในอนาคต เช่น เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย เมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นต้น รวมทั้ง EECi EECd เรื่องดิจิทัล เรื่องวิจัยและพัฒนา จะมีศูนย์อยู่ที่นี่หมด เพื่อจะให้ครบวงจร เพื่อผลิตคนออกมาด้วย มีผลงานวิจัยนำสู่การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมด วันนี้มีอยู่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

รวมทั้งการประกาศพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่รอบประเทศ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 8,818.5 ล้านบาท เราต้องการสร้างความเข้มแข็งในแต่ละภาค เราต้องมีเมืองพวกนี้อยู่ตามแนวชายแดนในแต่ละภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก 10 เมือง จะได้เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย วันนี้ทุกคนต้องทราบว่ามูลค่าการค้าขายชายแดนสูงขึ้นกว่า 100% ทำให้เรามีสถานะทางเศรษฐกิจหรือการค้ายังเข้มแข็งอยู่ เพื่อชดเชยในสิ่งที่มีปัญหาในเรื่องของสงครามการค้าอยู่ขณะนี้ มีผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งสิ้น

3) การส่งเสริมการส่งออก รัฐบาลมุ่งเน้นการรักษาตลาดเดิมและหาตลาดใหม่ ผ่านการเจรจาในเวทีต่าง ๆ ทาให้ตัวเลขการส่งออกปี 2561 ขยายตัวถึง 7.3% มีขึ้นมีลงตามช่วงเวลา วันนี้ที่ผ่านมาก็ไม่เคยสูงเท่านี้มาก่อน เว้นแต่ ก่อนที่จะมีสถานการณ์เรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก่อนอาจจะสูงมากกว่านี้ แต่ตกทุกประเทศในโลกนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้า วันนี้กำลังเจรจาเรื่อง FTA กับ EU กับประเทศต่อประเทศ ทวิภาคี มีหลายประเทศทำสำเร็จแล้ว ก็ดำเนินการต่อไป การเจรจา ASEP คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่จะต้องทำกับอาเซียนด้วยกัน เพื่อให้เราแข็งแกร่งเป็นกลุ่ม เพราะเราไม่เคยมีแบบนี้ ผมคิดว่าน่าจะทำได้ภายในปี หรือในขณะที่เราเป็นประธานอาเซียน เพราะเราไม่ได้เดินมาทุกปีเหมือนที่ผ่านมา ผมไปประชุมทีไรผมก็พูดเรื่องนี้ทุกที ASEP เราต้องการให้เสร็จในปีนี้ เราจะได้มีข้อตกลงการค้าของเราเอง จะเกิดประโยชน์กับทุกคนในอาเซียน และเราต้องพิจารณาในเรื่องของโอกาสอื่นอีกด้วยอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง TPP ก็ต้องพิจารณาให้ดี

4) ส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วันนี้เราเป็น 12 แล้ว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต นวัตกรรมต้องเกิดขึ้น ทั้งนวัตกรรมของ 1.0 2.0 3.0 และ 4.0 ต่างกัน คำว่านวัตกรรม เอาง่าย ๆ ถ้าใช้แรงงานอยู่เป็น 1.0 แต่ถ้าใช้เครื่องโม่อะไรต่าง ๆ ทำให้เร็วขึ้น เครื่องคัดแยกเร็วขึ้น เป็นนวัตกรรมของ 1.0 ทั้งสิ้น คือลดการใช้แรงงานลดไป จะไม่พูดถึงเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติอะไร พอไป 2.0 ก็มีใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น เรามีเครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น รถไถนา ก็ทำอย่างอื่น แปรรูปอย่างอื่น นั่นคือนวัตกรรมที่ไปทำอย่างอื่นได้จากรถไถนา นั่นคือนวัตกรรมของ 2.0 แล้ว 3.0 คือเครื่องจักรขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ เทคนิคต่าง ๆ ให้รวดเร็วขึ้น พอไป 4.0 บางอัน ต้องใช้รถยนต์เข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้น วันนี้เราไม่ต้องการให้คนตกงาน แรงงานที่เข้ามาทำงานวันนี้ เรากำลังให้การเรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับเครื่องจักร ไม่ใช่ให้เครื่องจักรทำงานแทน อย่างไรก็ต้องมีคนควบคุมเครื่องจักรเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคนที่หลุดจากตรงนี้ก็ต้องพัฒนาไปทำตรงอื่น อย่างไรก็ต้องมีไลน์การผลิตที่มีคนล้วน ๆ อยู่ อันนี้จะใช้เฉพาะในส่วนที่ต้องทำปริมาณมาก ๆ มีความเสี่ยงอันตราย มีความร้อนสูง เขาก็ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนหลอมเหล็ก วันนี้อาจจะมีบางโรงงานที่ใช้แรงงานคน แรงงานอะไรต่าง ๆ ซึ่งอันตราย ที่มีสารรั่วไหล มีเคมีอะไรต่าง ๆ เขาก็ใช้เครื่องจักรตรงนี้เข้าไป หรือแม้กระทั่งการผลิตรถยนต์วันนี้ ก็เกิดขึ้นมาเยอะแล้ว มีไลน์การผลิตอยู่ กว่าจะผลิตรถมาทั้งคัน มาทั้งตัวถัง เครื่อง ประตู หน้าต่าง มาหมด ประกอบมาเสร็จแล้วเข้าไลน์มา ตรงนี้คนประกอบ ตรงนี้ไปเข้าหุ่นยนต์ประกอบ วันหน้าเราต้องเรียนรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น ใช้แรงงานอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ในช่วงปี 2558-2561 ประเทศไทยมีการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve กว่า 431,285 ล้านบาท เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร จำนวน 1,451 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 749,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ตรวจลงตรา SMART Visa สาหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรเหล่านี้เข้ามาลงทุน ทำ งาน หรือริเริ่มธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ต้องกลัวเขามาแย่งงาน ถ้าไม่มีพิเศษก็ไม่เข้า ถ้าเขาทำอะไรที่ยังอ่อนอยู่ ยังไม่เข้มแข็งอยู่ ก็เอาเขามาเรียนรู้หน่อยหนึ่ง หมดสัญญาเขาก็กลับ ต้องกลับอยู่แล้ว ก็จะเร่งการพัฒนาของเราให้เร็วขึ้น ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

5) เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs และ Start Up Start Up คือจดทะเบียนเจ้าของคนเดียว มีลูกน้องลูกจ้าง 2-3 คน จดคนละเรื่องกับเรื่องการจัดตั้งโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ คนละเรื่อง ไปหาโรงงาน โรงงานบางทีก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน จะทำอย่างไรก็เลยไม่ได้ไปหมด จริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นกับ 8,000 รายขณะนี้ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ออกมา แล้วก็ธุรกิจขนาดเล็กมีหลายอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีโรงงาน เสร็จแล้วก็จะขยายไป SMEs ไปเรื่องของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ วันนี้ต้องไปดูเรื่องของ Micro SMEs ด้วย เรามี 3 ล้านรายถ้ารวม Micro SMEs ไปอีกก็ประมาณ 10 กว่าล้านราย เพราะว่าพวกนี่คือร้านค้าปลีก ร้านอะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด ผู้ประกอบอาชีพอะไรต่าง ๆ ขนาดเล็กต่าง ๆ ถือว่าเป็น Micro SMEs ต้องดูแลทั้งหมด ทั้ง Micro SMEs เสร็จแล้วไปถึง S ไปถึง M ไปถึง E ก่อนจะถึง SMEs ก็มี Start Up มาเสริมด้วยการใช้ระบบดิจิทัลออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามา สร้างมูลค่าเพิ่ม

ออกมาตรการทางการเงิน ให้สินเชื่อแล้วกว่า 949,000 ราย วงเงิน 17,000 ล้านบาท นี่คือการดูแล SMEs ผู้ประกอบการ Start Up ด้วย

มาตรการด้านภาษีส่งเสริมการดาเนินธุรกิจของ SMEs ขับเคลื่อน SMEs เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 เช่น ผลักดัน SMEs สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวม 3,837 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ธุรกิจ SMEs ในแต่ละประเภท จะมีคนอยู่ในวงจรประมาณ 10 ล้านรายที่ได้รับประโยชน์จากตรงนั้น เพราะฉะนั้นถ้าตรงนี้ดีขึ้น ต้องมีคน 10 ล้านรายได้ประโยชน์ คนที่ยังไม่ได้ประโยชน์ ดูสิว่าไปเชื่อมโยงกับเขาได้อย่างไรต่างหาก ไม่ว่าจะ S ไม่ว่าจะ M ไม่ว่าจะ E มีการประกอบการต่างระดับขึ้นมา แต่อย่าลืมว่า คน ถ้าเราพูดว่าระดับล่างไม่ได้รับการดูแลเลยคงไม่ใช่ เพราะคนที่ระดับล่าง ที่เป็นการใช้แรงงานเขาอยู่ในวงจรของเขา เขาก็ได้ส่วนตอบแทนส่วนแบ่งของเขาไปแล้ว เรื่องค่าแรง เรื่องการดูแลสวัสดิการ แต่สิ่งที่จะโยงถึงคนอื่นได้ อย่างที่บอกเศรษฐกิจแย่ ๆ ข้างล่าง ผมว่าต้องอยู่ในขั้นตอนที่จะโยงเหล่านี้มาอย่างไร คนอื่นที่อยู่นอกระบบ ที่เป็นต้นทาง ที่จะเข้าไปแปรรูปธุรกิจเหล่านี้ แต่ไม่ใช่เขียนกฎหมายอะไรก็ได้ ไม่ใช่แบบนั้น

การส่งเสริม SMEs เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ที่เรียกว่าการเป็น Smart Enterprises มีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาไปแล้วกว่า 100,000 ราย เกิดมูลค่าการสั่งซื้อรวมประมาณ 80 ล้านบาทระยะแรก

6) ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ส่งเสริมการใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติอย่างครบวงจร เช่น โครงการพร้อมเพย์ ให้ประชาชนลงทะเบียนผูกเลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม 45.4 ล้านรายการ เพื่อใช้ในการรับโอนเงินแทนการใช้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อวางแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น ระบบบูรณาการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า ไม่อย่างนั้นก็พูดกันไปเรื่อยเปื่อย ต้องชี้เป้ามาให้ได้ เพื่อหาคำตอบว่า “ใครคือคนจน” “คนจนต้องการหรือมีปัญหาอะไร” และ “จะช่วยเหลือคนจนได้อย่างไร” มีหลายอย่าง ทั้งมาตรการเร่งด่วนทันที เพื่อดำรงชีวิตอยู่ อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง จะให้มากก็ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นไม่เข้มแข็งไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะพอสม ในการที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของเขาไปด้วย อย่าสอนให้คนไม่ทำอะไร แล้วก็รอรับความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้

7) ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยใช้ “วิถีไทย” เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ

เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะเมืองรอง การท่องเที่ยวในอุทยานต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหมด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมน้อย วันนี้ก็ได้มาอีกหลายสิบเท่า รายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ของอุทยาน

รักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของโลก โดยประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 57,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก แล้วจะขัดแย้งกันไปทำไมอีก ให้เขาไม่มาหรืออย่างไร จะแพร่เรื่องไม่ดีออกไปเยอะ ๆ หรืออย่างไร ไม่มีใครเขาทำหรอก ทำลายประเทศตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ใช่ปกปิด ก็เสนอแต่พอสมควร ไม่ใช่เสนอแล้วเสนออีก พูดกันอยู่นั่น ไม่จบสักที

โดยรายได้ดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 14.2% ต่อ GDP เป็น 18.4% ต่อ GDP ในปี 2561 มีหลายอย่างที่ต้องประเมินมาทั้งหมด 100% นี้ แต่ GDP ของเราทั้งหมด รายได้ประเทศมาจากตรงนี้บ้างตรงนั้นบ้าง อุตสาหกรรมก็มี การท่องเที่ยวก็มี ถือว่าอุตสาหกรรมและบริการสูงที่สุดคือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จากการเกษตรเพียง 6-7% ไม่เกินนั้น แสดงว่ามีปัญหาระบบการเกษตร เราต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่รายได้น้อย ๆ ออกกฎหมายมาให้ได้เยอะที่สุด คงไม่ใช่แบบนั้น ต้องแก้เรื่องความเข้มแข็ง ความมั่นคงของเขาด้วย

8) การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เราไม่ได้มีไทยแลนด์ 4.0 อย่างเดียว มีไทยแลนด์ Plus One ไทยแลนด์+1 ไปด้วย รอบบ้าน ไป ACMECS ไปกลุ่มประเทศแม่โขง เพราะฉะนั้นเวลาใครมาลงทุนกับเรา เขาก็คิดถึงว่าเขาจะโยงไปประเทศอื่นได้อย่างไร เราก็จะเป็นศูนย์กลาง เป็น HUB ตรงนี้ของเรา นั่นคือแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งต่างประเทศก็เห็นชอบ ถ้ามาบ้านเขา ผมก็บอก You ก็เป็นอาเซียน+1 มาไทยด้วยก็แล้วกัน เพราะการลงทุนต้องลงทุนเป็นเครือข่าย ของจากต่างประเทศ มีแผนการพัฒนาการลงทุน 50 ปีบ้าง ทุกอย่างไม่ใช่ว่า การกู้เงินนี่กว่าจะลงทุน 5 ปีอย่างน้อย หาแหล่งเงินกู้ ลงทุนภายใน 50 ปีเขาต้องมีแผนการพัฒนาของเขา Strategy ของเขา ดูเขาด้วย

เพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนต่อภาครัฐในปี 2560 คิดเป็นอัตราส่วน 70:30 ไม่เคยทำได้ นี่ทำมาแล้ว พอบอกว่าน้อยเกินไป รัฐบาลมีเงินสนับสนุนน้อย ก็เอาเอกชนมาร่วมลงทุน วันนี้คิดสัดส่วนแล้ว 70:30 รวมแล้วคิดเป็นเงินเรื่องลงทุนวิจัยพัฒนาเป็น 1.14 แสนล้านบาท หรือ 0.8% ของ GDP

สัดส่วนของการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของไทยที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบ คือ ช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2544 - 2554 เพิ่มขึ้น เพียง 0.1% จาก 0.26% เป็น 0.38% แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2556 - 2559 มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 0.4% จาก 0.47% ในปี 2556 เป็น 0.78% ในปี 2559 คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 113,527 ล้านบาท และตั้งเป้าไว้ว่าจะทะลุ 1% ในปี 2561 นี่คือเป้าหมายที่ต้องการ 1% ต้องเดินหน้าอย่างนี้ต่อเนื่อง เร่งให้เร็ว 3 ปี 4 ปี มาเร่งตอนต้นที่ยังน้อยอยู่ จนกระทั่งได้แค่นี้

จำนวนบุคลากรวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 17 คนต่อประชากร 10,000 คน จากเดิม 13.8 คน

จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม สร้างนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ พัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง พัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer ยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร ผลิตคนให้ตรงความต้องการของประเทศในสาขาที่สำคัญ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพในทุกด้าน โดย

1) พัฒนาการศึกษาชาติ

การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อวางรากฐานสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีเท่าเทียมกัน โดยจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ จัดทำ School Mapping และร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย

การลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สามารถสนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสไปแล้วกว่า 4.3 ล้านคน

การยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ เช่น จัดการศึกษาอาชีวะแบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ ริเริ่มโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล รวมทั้งพัฒนาครูทั้งระบบโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กต้องสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการของท้องถิ่นโดยเน้นผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปรับหลักสูตรครูเหลือ 4 ปี พัฒนาให้เชื่อมโยงกับวิทยฐานะความก้าวหน้าเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศ

2) พัฒนาฝีมือแรงงานรองรับไทยแลนด์ 4.0

ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 257,190 คน

ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 578,893 คน แรงงานฝีมือจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพราะถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศคงเป็นไปได้ยากต้องมีการเพิ่มทักษะของตนเองเพื่อให้มีค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย พัฒนาแรงงานในสถานประกอบการให้มีความรู้และทักษะสูงขึ้น 75,500 คน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตมูลค่า 5,004 ล้านบาท

ส่งเสริมให้สถานประกอบการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 16,465,117 คน

พัฒนาทักษะให้กับผู้ยากจน ด้อยโอกาส วิสาหกิจชุมชน และผู้มีรายได้น้อย 70,834 คน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 4,800 บาท/คน/เดือน

จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่ง เป็นศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาแรงงานด้านนี้ด้วยเพื่อพัฒนาให้เท่าทันการแข่งขันของตลาดแรงงาน

3) การดูแลประชาชนระดับฐานราก

การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งสิ้น จำนวน 79,598 กองทุน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นเหล่านี้ให้ไปเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งรวมกลุ่มพัฒนาทำโครงการต่าง ๆ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สามารถสนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสไปแล้วกว่า 4.3 ล้านคน

การกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ มีผู้ประกอบการ SMEs สนใจจัดตั้งธุรกิจจำนวน 3,017 ราย และมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI วงเงินรวม 8,818.5 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ประชาชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยรัฐสร้างหลักประกันการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง มีโครงการที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อย ราว 14.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการดูแลช่วยเหลืออย่างตรงจุด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก๊าซหุงต้ม ค่าใช้จ่ายรถโดยสารสาธารณะ และยังเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ

(1) แบ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าที่จำเป็นกลับคืนเข้ากระเป๋าเงินในบัตรสวัสดิการฯ

(2) โอนเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของผู้ถือบัตร

(3) เพิ่มเงินให้แก่ผู้สูงอายุที่ถือบัตร

(4) ผู้ถือบัตรยังมีโอกาสกู้ซื้อบ้านในโครงการบ้านคนไทยประชารัฐในอัตราพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง

2) แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ แบบครบวงจร โดยพบว่าผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นหนี้นอกระบบ ราว 1.2 ล้านคน รัฐบาลจึงได้

(1) ดำเนินการกับเจ้าหนี้เถื่อน ออก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ปี 2558 และพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ปี 2560 และเชิญชวนให้เจ้าหนี้เถื่อนเข้าระบบอย่างถูกต้อง

(2) ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ได้มากกว่า 335,000 ราย มูลหนี้ 61,000 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยคืนโฉนดที่ดินให้ลูกหนี้ได้ 10,138 ราย รวมพื้นที่โฉนด 25,964 ไร่

(3) เพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเช่น สินเชื่อฉุกเฉิน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รายละไม่เกิน 50,000 บาท

(4) ฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ให้ลูกหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน เช่น สร้างอาชีพเสริม เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ยังรวมไปถึงการทำงานในระบบ นอกระบบ คนด้อยโอกาส คนทำงานที่บ้าน

3) แก้ปัญหาที่ดินหลุดมือเกษตรกร โดยได้อนุมัติ พ.ร.บ.คุ้มครองการขายฝากที่ดินทำการเกษตรหรือที่อยู่อาศัย กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคนกลางตรวจสอบการทำสัญญาทุกขั้นตอนอย่างละเอียด จนกระทั่งถึงการจ่ายเงินตามสัญญา กำหนดราคาไถ่คืนให้เป็นธรรมชัดเจน กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เอาเปรียบ โดยห้ามไม่ให้บังคับไถ่ถอนเร็วกว่า 1 ปี เป็นต้น

4) จัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้แบบแปลงรวม โดยมอบเอกสารเข้าทำกินในที่ดินของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าที่ยึดคืนมาได้และที่ดินของรัฐอื่น เช่น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ราชพัสดุ รวมแล้วกว่า 310,000 ไร่ ซึ่งสามารถส่งต่อให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ต่อไปได้

การจัดสรรที่ดินทำกินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ใน 61 จังหวัด จำนวน 46,674 ราย พื้นที่ 399,481 ไร่

การส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,663 แปลง พื้นที่ 5.41 ล้านไร่

5) ปลดล็อกกฎหมายป่าไม้ แก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ในรอบ 77 ปี ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือทำไม้จากไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ยาง รวม 58 ชนิด ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทางอ้อมช่วยออมเงิน และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ รวมทั้งยังสามารถนำไม้มีค่าไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทางธุรกิจ หรือกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการปลูกป่าทำให้ลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย

6) เพิ่มสวัสดิการประชาชน เช่น โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย โดยเริ่มให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรก จากคนละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี และปรับเพิ่มเป็น 600 บาทต่อเดือน และให้เรื่อยไปจนถึงอายุ 3 ปี ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับเงิน 600 บาท/เดือน อายุ 70-79 ปี 700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปี 800 บาท/เดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท/เดือน เพิ่มเบี้ยยังชีพความพิการ จากคนละ 500 บาท/เดือน เป็นคนละ 800 บาท/เดือน

7) เพิ่มโอกาสมีที่อยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านประชารัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งผู้มีรายได้ประจำ และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาชีพอิสระ โครงการบ้านล้านหลัง สำหรับผู้มีรายได้น้อย คนวัยทำงาน ผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว หรือผู้สูงวัย ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง โครงการบ้านเคหะกตัญญู สำหรับผู้สูงอายุ และโครงการบ้านพอเพียงในชนบท เป็นต้น

8) ยกระดับที่อยู่อาศัยให้มีมาตรฐาน เช่น โครงการบ้านประชารัฐริมคลอง สร้างที่อยู่อาศัยให้มีมาตรฐานและปลอดภัย จัดระเบียบพื้นที่รุกล้ำคลองสาธารณะให้เป็นระเบียบ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และปทุมธานีโมเดล โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ลบภาพแฟลตดินแดงที่ทรุดโทรม สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย นอกจากนี้มีการฟื้นฟูอนุรักษ์คลองเปรมประชากร ความสะอาด บำบัดน้ำเสียสร้างที่พักให้มีคุณภาพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยคูคลองทั้งประเทศ

9) สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชนส่งเสริมสินค้า OTOP และสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จับคู่ธุรกิจและนำผลิตภัณฑ์ OTOP จำหน่ายบนเครื่องบิน ช่วยสร้างรายได้จาก 98,000 ล้านบาท ในปี 2557 เป็น 190,000 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยปล่อยสินเชื่อ 60,000 ล้านบาทให้แก่กองทุนหมู่บ้าน

มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท

มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศวงเงิน 40,000 ล้านบาท

จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองรวม 79,598 กองทุน

ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ จัดตั้งร้านธงฟ้าประชารัฐและตลาดประชารัฐ สร้างอาชีพและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนซึ่งร้านธงฟ้า มีสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไม่ต้องไปคำนึงว่าจะเอื้อประโยชน์หรือเป็นของใคร เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้ใช้เงินซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค

10) แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไกล่เกลี่ยหนี้สินระหว่างเกษตรกรกับสถาบันการเงิน จนสามารถปรับโครงสร้างหนี้สินได้มากกว่า 36,000 ราย ลดภาระหนี้ได้ราว 10,200 ล้านบาทเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับชุมชน จำนวน 882 แห่ง มีเครือข่าย 10,523 แห่ง ครอบคลุมการผลิตทางการเกษตรทุกด้าน

11) ส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณ จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณช่วยสร้างหลักประกันให้กับตนเอง โดยเมื่อสิ้นปี 2561 มีสมาชิกแล้ว 610,683 คน เงินกองทุนรวม 3,805 ล้านบาท

12) พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้คนไทยนอกสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิอื่น ๆ ที่รัฐจัดให้

  • สามารถไปรักษาฟรี ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคุ้มครองไปถึงผู้ป่วยโรคจิต โรคเรื้อรัง และผู้ติดยาเสพติด
  • ขยายสิทธิการรักษา เช่น เพิ่มสิทธิฉีดวัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้
  • เข้าถึงยาราคาแพง 11 รายการ เช่น ยารักษามะเร็ง ยาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
  • เพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก 153,152 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 181,584 ล้านบาท ในปี 2562 ช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลประชาชนรายหัว ลดภาระค่ารักษาพยาบาล และลดจำนวนโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีปัญหาทางการเงิน
13) ยกระดับบริการสาธารณสุข

“คลินิกหมอครอบครัว” เน้นให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเบื้องต้น ลดการรอคอยที่โรงพยาบาลใหญ่ได้ถึง 60% ลดระยะเวลารอคอยเฉลี่ยเกือบ 3 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง และลดเดินทางไปโรงพยาบาลเฉลี่ย 1,655 บาทต่อคนต่อครั้ง

การส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. โดยเพิ่มค่าป่วยการเป็น 1,000 บาท

การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในระดับพื้นที่ ผ่านการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ทั้ง 878 อำเภอ

นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก ไม่ว่าสิทธิใดก็ตาม เพิ่มค่าป่วยการของ อสม. เป็น 1,000 บาท จัดตั้งนักบริบาลชุมชน ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในแต่ละพื้นที่ โดยให้ชุมชนดูแลกันเองผู้ที่มีปัญหาต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ดูแล อบต. อบจ. ต้องมีการประสานความร่วมมือดูแลจัดการกันภายในชุมชน

14)เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาราคาสูง 4 ชนิด เพิ่มวงเงินค่าผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อการฟอกไต เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรจากที่เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม จาก 600 บาท เป็น 900 บาทต่อปี คืนสิทธิให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ ให้กลับสู่ระบบประกันสังคมได้อีกครั้ง จำนวน 39,275 คน

15) เพิ่มโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ โดยติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ 74,987 หมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ปกติ และพื้นที่ชายขอบห่างไกล เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา สร้างอาชีพและรายได้ การเข้าถึงบริการภาครัฐ และการดูแลสุขภาพ ติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2560 จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งในระยะแรกอาจมีปัญหาล่าช้าต้องมีการปรับปรุงระบบพัฒนาเพิ่มศักยภาพขึ้นเรื่อย ๆ

16) เพิ่มประสิทธิภาพ “ศูนย์ดำรงธรรม” ระดับจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยมีการขอรับบริการ 3.292 ล้านเรื่อง สามารถยุติเรื่องได้ 3.233 ล้านเรื่อง

นอกจากนี้ มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมที่ดิน เพื่อให้คำปรึกษาร้องเรียนด้านที่ดินเป็นการเฉพาะ มีเรื่องร้องเรียน 3,624 เรื่อง ยุติเรื่องได้ 3,002 เรื่อง และมีประชาชนขอรับบริการปรึกษาปัญหาด้านที่ดินอื่น ๆ ปีละกว่า 30,000 ราย

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกันทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตต่าง ๆ หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า รักษาพื้นที่ป่าให้คงอยู่ที่ 102 ล้านไร่ ไม่มีการบุกรุกเพิ่ม ถ้าเพิ่มก็ต้องจับทันที ดำเนินคดีหมด มีการดำเนินคดีบุกรุกป่ากว่า 25,000 คดี สร้างไม่ให้คนทำแบบนี้อีก บรรดานายทุนต้องหาสืบสวนมาลงโทษให้ได้ คนเหล่านี้อยู่มาหากินแบบนี้ ป่าหมดไปเขา ๆ แล้ว ดำเนินคดีตัดไม้กว่า 30,000 คดี ขยายผลยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก และได้พื้นที่ป่าคืนมากว่า 720,000 ไร่ และทำต่ออีก เข้าไปสอบสวน ดำเนินการตามกฎหมาย จับกุม ฟ้องศาล รัฐบาลต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้ใคร ผมยอมรับไม่ได้

สร้างป่าชุมชน รัฐบาลได้ออกกฎหมายป่าชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้ เดิมนี่เข้าป่าไปไม่ได้โดนจับหมด วันนี้อย่าไปจับเขา ไปดูกฎหมายพวกนี้ด้วย ป่าชุมชน เข้าไปทำอะไรได้บ้าง และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ต้องเรียนรู้ด้วย ป่าชุมชนเราถือว่าเป็นเหมือน “ซูเปอร์มาร์เกตของหมู่บ้าน” หรือ Food Bank ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงริเริ่มไว้ ที่จะช่วยลดรายจ่าย และสร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้าน เพราะทุกคนสามารถปลูกต้นไม้ ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน แล้วเก็บพืชผักสมุนไพรของป่า ออกมาใช้สอยในครัวเรือน หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย พื้นที่ป่าชุมชนบางแห่งมีแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านได้ทำอาชีพประมง และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีก ก็ต้องไปดูกฎหมายที่มีอยู่ มีการผ่อนผันการบังคับใช้เพื่อผลประโยชน์โดยรวมต้องไปดูกฎหมายว่าได้ไม่ได้อย่างไร แต่ทั้งหมดดีขึ้นแล้ว แต่ก่อน เดินเฉียดเข้าป่าขาเข้าคุกแล้ว ตัดไม้ยังไม่ได้เลย ขนาดไม้มีค่าล้มทับบ้านยังไม่กล้าตัดเพราะกฎหมายเขียนไว้

กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รัฐบาลส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างถูกต้อง ท้องถิ่นนำไปกำจัด 15.76 ล้านต้น ขยะตกค้างในชุมชน 5.67 ล้านตัน และขยะที่นำไปรีไซเคิล 5.63 ล้านตัน รวมทั้ง ยังมีขยะรีไซเคิลที่ได้จากการแยก ณ สถานที่กำจัดขยะอีก 180,000 ตัน รวมเป็นขยะรีไซเคิล 5.81 ล้านดัน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้หมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน จัดตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชนอย่างถูกต้องด้วย เรื่องขยะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำเรื่องคลัสเตอร์ในงบประมาณกำจัดขยะ กว่า 300 คลัสเตอร์ ลงในพื้นที่ เพื่อลดขนาดปริมาณการขนย้ายขยะให้มาห่างไกล ทุกวันนี้ไม่สามารถสร้างโรงขยะได้ เพราะติดปัญหาเรื่องของพื้นที่ของเอกชน เราต้องมาดูเพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนต้องอย่าพยายามผลิตขยะ

บริหารจัดการน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ระยะ 12 ปี ทั้งการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อให้ทุกบ้านมีน้ำประปาใช้ สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำได้มากกว่าที่ผ่านมาถึง 4 เท่า เพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 3,500 แห่ง พื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ แหล่งน้ำสำหรับไร่นา 180,278 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการบริหารจัดน้ำที่ทางรัฐบาลต้องรับผิดชอบโดย สทนช. วางแผนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรื่องของการหาต้นทุนน้ำ การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่อไปเรียกว่า การบริหารน้ำชุมชน แต่ละหมู่บ้าน แต่ละพื้นที่ มีการบริหารจัดการชุมชน ต้องการน้ำ ต้องดูพื้นที่เพราะบางพื้นที่สามารถส่งได้ และส่งไม่ได้ บางพื้นที่ต้องมีการรองรับน้ำฝนเพราะต้องมีการเปลี่ยนวิธีการก่อนที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วย มีการขุดอ่างน้ำ ขุดทำแก้มลิง ทำการกักเก็บน้ำ อยากให้ดูสภาพพื้นที่ น้ำไม่สามารถไปถึง จากสภาพภูมิประเทศแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐให้ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดย

ปรับปรุงวิธีการทำงานให้ทันสมัย โดยขับเคลื่อนระบบราชการ 4.0 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) Agri map TP map ในการวิเคราะห์วางแผนงาน ออกหนังสือผ่านแดนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ บริการด้านทะเบียนที่ดินด้วยระบบออนไลน์ ให้บริการข้อมูลดิจิทัลด้านผังเมือง รับชำระค่าสาธารณูปโภคโดยไม่ใช้เงินสด ขอติดตั้งระบบสาธารณูปโภคผ่านแอปพลิชัน ลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ เรียกว่าเราเป็นการพัฒนาด้านออนไลน์ดิจิทัล เดินหน้าต้องใช้เวลาใช้เครื่องมือเชื่อมโยงกับของเก่า

ปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐ เช่น จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรขับเคลื่อนและกำกับการบริหารจัดการน้ำ และบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ระยะ 12 ปี แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนมีโครงการกำกับ มีแผนแม่บทสามารถตอบคำถามคณะกรรมการติดตามผล มีการรับฟังประชาชน รัฐบาลใหม่ก็ต้องหยิบมาดู จัดตั้งกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ในทุกกระทรวง ถ้าจะปรองดองได้นั้นอยู่ที่เราทุกคน แต่ผมบังคับใครไม่ได้

ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การลงโทษข้าราชการที่มีพฤติกรรมทุจริตอย่างเด็ดขาด การออกกฎหมายอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และเปิดเผยข้อมูลโครงการภาครัฐรัฐบาลมีการติดตามผลก้าวหน้าไปทีละขั้น ๆ ส่วนที่ไม่เรียบร้อยก็เอามาแก้

ปรับปรุงกฎหมาย รัฐบาลได้ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ให้มีความทันสมัย มีมาตรฐานตามหลักสากล และเป็นธรรม จำนวน 346 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 103 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่ไม่ทันสมัยหลายพันฉบับที่ทำไม่ทัน โดยมีกฎหมายสำคัญ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านความเหลื่อมล้ำ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ด้านความมั่นคง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้านสังคมและวัฒนธรรม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านสวัสดิการ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ด้านกระบวนการยุติธรรม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น รวมทั้งยังมี พ.ร.บ.ข้าว พ.ร.บ. น้ำ อีก

ปฏิรูประบบงบประมาณ เน้นการบูรณาการงบประมาณตามเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และเม็ดเงินงบประมาณ ตั้งคณะกรรมการระดับชาติกำกับดูแลการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วน (Agenda) โดยได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเพิ่มขึ้นจาก 666,000 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 806,000 ล้านบาท ในปี 2562 นี่คือนโยบายเร่งด่วนที่ค้างต้องทำให้เสร็จ การตั้งงบประมาณปีนี้ อาจต้องอีก 3 - 4 ปีข้างหน้า เรียกว่างบประมาณผูกพัน ต้องเข้าใจระบบงบประมาณแต่ละโครงการและแผนงานต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ บางพื้นที่รัฐบาลต้องเอาเงินไปเติม เพราะเก็บได้น้อย งบกลางมีไว้ใช้เพื่อแก้ภัยพิบัติ และในปี 2563 กำลังจะดำเนินการ กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับภาค กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม จังหวัด ท้องถิ่น ทุกพื้นที่มีงบประมาณที่แตกต่างกัน งบประมาณต้องมีประโยชน์ ตอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ เกลี่ยงบประมาณให้อยู่ในวงเงิน ตรงไหนใช้เงินท้องถิ่นก็ใช้ไป เพื่อลดการกระจุกตัวของงบประมาณ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยได้จัดสรรงบประมาณลงสู่ภูมิภาคเพิ่มขึ้นจาก 559,000 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 765,000 ล้านบาท ในปี 2562 ผมไปต่างจังหวัด ผมเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดมาประชุมพร้อมกัน วางแผนร่วมกันทั้งภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มจังหวัดภาคต่าง ๆ เพื่อไปติดตามว่า การเสนอเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมา และได้มีการอนุมัติงบประมาณ ได้ดำเนินการใช่หรือเปล่า มีทั้งรัฐมนตรีที่ตรวจสอบ 85 กิจกรรมที่ลงไปดูในพื้นที่ เก็บข้อมูล และมารายงานผม มีชาวบ้านส่งบัตรเล็ก บัตรน้อยมาให้ผม ผมก็รับมาดูต่อ ผมทำงานแบบนี้ นี่คือการมาเยี่ยมประชาชนของผม

จัดให้มีข้อตกลงคุณธรรม เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Market และและประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ร้องเรียนมาก็ตรวจสอบทุกวัน ตามขั้นตอนตามกฎหมาย

จัดตั้งกองทุนยุติธรรม รัฐบาลได้ปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ด้อยโอกาสผ่านกองทุนยุติธรรม ครอบคลุมทั้งค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นในการดำเนินคดีตรวจพิสูจน์ และค่าขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย มีผู้ยื่นขอความช่วยเหลือทั้งสิ้น 27,747 ราย ให้ความช่วยเหลือแล้ว 11,169 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 757 ล้านบาท

การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง คนร. ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 6 แห่ง โดยมีสาระสำคัญและนโยบาย คนร. สรุปดังนี้

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปัจจุบันฐานะทางการเงินของ ธอท. มีความแข็งแกร่งแล้ว จากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561 และในปี 2561 ผลประกอบการของ ธอท. มีกำไรที่สูงกว่าแผนงาน แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Finance : NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย คนร. เห็นว่า ธอท. มีผลประกอบการที่ดี มีกำไรแล้ว และมีการปรับปรุงระบบการทำงาน ปีนี้มีกำไร 500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคตของ ธอท.

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดศ.) ได้รายงานความก้าวหน้าในการควบรวม บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โดยการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะติดเพียงเรื่องคดีความข้อพิพาทต่าง ๆ ที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยพนักงานทั้งหมดของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท จะโอนมาเป็นพนักงานของบริษัทใหม่ จะต้องได้สิทธิประโยชน์เท่าเดิม ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีทั้งหมด 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) โครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ 3) บรอดแบนด์และโทรศัพท์พื้นฐาน ทำทั้งไวไฟและเคเบิลใต้น้ำ เพิ่มอีก 1 เส้นทาง เดิมมีสิงคโปร์และวันนี้เพิ่มฮ่องกง 4) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 5) การให้บริการด้าน Digital สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะทำงานเตรียมการรวมกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจของบริษัทใหม่ ระหว่างปี 2562 - 2567 แล้ว สำหรับการจัดตั้งบริษัทใหม่จะสามารถจัดตั้ง และเริ่มดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน นับจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ได้นำเสนอแผนในการแก้ไขเพิ่มเติมที่จะช่วยให้มีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย โดย คนร. ได้มอบหมายให้ บกท. เร่งจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง เหลือไม่กี่ลำ เร่งรัดให้มีการขาย ถ้าวันนี้จะต้องซื้อเครื่องบินใหม่ ต้องมีคุณภาพ ก็ต้องมีการคิดให้รอบคอบ และสร้างความชัดเจนเส้นทางการบินทั้งในประเทศ ข้ามประเทศ ถึงการดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท สายการบินนกแอร์ จากัด (มหาชน) ให้ บกท. ดำเนินการตามแผนงานที่ได้นำเสนออย่างเคร่งครัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานการดำเนินการตามแผนต่าง ๆ ทั้งในด้านการลงทุนต่าง ๆ การบริหารทรัพย์สิน และการจัดตั้งบริษัทลูกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และการบริหารทรัพย์สิน รวมทั้งที่ดินมักกะสัน ต้องเอาใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงพาณิชย์และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยต้องได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน รวมทั้ง ปัจจุบัน รฟท. ได้นำส่งงบการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ คนร. ให้ รฟท. นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างทางคู่และทางสายใหม่ทั้งหมดให้ได้ภายในปีนี้ และให้มีการน้ำเชื้อเพลิง B20 มาใช้ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วย ซึ่งได้มีการทดลองแล้วไม่มีปัญหา ตอนนี้เป็นช่วงโปรโมท รถที่เติม B20 จะถูกกว่าดีเซลปกติ 5 บาท เร่งรัดการผลิต B20 เพื่อเอามาขายปั๊มให้ได้ ตอนนี้ใช้ในภาคขนส่ง รถเมล์ เมื่อผ่านช่วงโปรโมทไปแล้วจะถูกกว่าดีเซล 3 บาท

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปัจจุบันรับมอบรถโดยสาร NGV มาแล้ว จำนวน 300 คัน และคาดว่าจะรับมอบส่วนที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะสามารถจัดหารถครบ 3,000 คันได้ภายในปี 2565 และได้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถที่มีอยู่ในปัจจุบันครบถ้วนแล้ว สำหรับการนำน้ำมัน B20 มาใช้ คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ แต่ยังคงมีความล่าช้าในการติดตั้งระบบ E-Ticket ซึ่งสอบสวนติดตามอยู่ ทั้งนี้ รวมทั้งยังมีการติดตามแผนฟื้นฟูกิจการ

แผนอนาคตประเทศไทยในระยะต่อไป ที่ทุกท่านต้องมีส่วนร่วมสร้างความสงบเรียบร้อย เพื่อวางแผนอนาคตระยะ 5 ปีต่อไป ถัดไปจะกี่รัฐบาลก็ไม่รู้เต็มก็ 4 ปี ทำไมถึงต้องมี 5 ปี ปีที่เหลือต้องต่อเนื่อง ถ้าเปลี่ยนไปพร้อมกัน ก็หายหมด ทุกครั้งเป็นแบบนี้ใครเข้ามาทุกครั้งก็เลิกทำใหม่ ไม่ได้ ต้องมีอีก 1 ปี นี่พูดถึง 4 ปีอยู่นะ ถ้าทำอย่างไรให้อยู่ 20 ปี ให้ไปคิดเอาเอง แผนอนาคตประเทศไทย 5 ปีต่อไปต้องทำเหล่านี้ต่อไป

แก้ไขปัญหาสังคมให้มีความต่อเนื่อง ยกระดับประสิทธิภาพในการดูแลคนทุกช่วงวัย ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาศัยอุตสาหกรรมศักยภาพและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก สามารถสรุปได้เป็น 3 ส่วน ครอบคลุม 15 ประเด็นเร่งด่วน ดังนี้

1) การแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง และการบริหารพื้นที่อย่างยั่งยืน 2) แก้ปัญหาความมั่นคงเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติดและความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 3) พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐในด้านการประเมินผลและการใช้งบประมาณ 4) แก้ปัญหาทุจริตของการดำเนินการทุกภาคส่วน 5) บริหารจัดการน้ำและมลพิษจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

การดูแลยกระดับ ประกอบด้วย 1) สภาพแวดล้อมภาครัฐที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการบริการภาครัฐ 2) สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดูแลตัวเองได้ 3) คนและการศึกษา พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต 4) เศรษฐกิจฐานราก เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการระดับตำบล ทั้งในด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม 5) บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ 6) กระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นการสร้างรายได้และรองรับการเติบโตในระบบอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1) การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครบวงจรและได้รับการยอมรับในระดับโลก 2) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เน้นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อากาศยาน เหล่านี้เป็นต้น 3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC และ SEC รวมทั้งการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาแบบก้าวกระโดด การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างความเชื่อมโยงทั่วประเทศและระหว่างประเทศ

บทสรุป

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะที่ 1 คือ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ แต่เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นเรามีไทยแลนด์+1 อาเซียน+1 ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งจะมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ผ่านแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลและยั่งยืน” โดยผลักดันประเด็นต่าง ๆ เช่น การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเพื่อสันติภาพ และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ในปีนี้เราจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้ง และการประชุมที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 170 วาระประชุม ประชุมใหญ่ 2 ครั้ง กลางปี กับปลายปี เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย นี่คือประเด็นสำคัญ อย่ามีอีกเลยทุกอย่างรู้อยู่แล้วอะไรดีไม่ได้

สำหรับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หรือต้องการข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ขอให้ติดต่อที่สายด่วน 1111 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ได้สั่งงานไปแล้วให้ศูนย์ดำรงธรรมขยายในเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนทุกมิติ ทั้งในเรื่องของโซเซียลมีเดีย เรื่องขอเว็บไซต์ต่าง ๆ ของภาครัฐ ให้มีช่องทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องไปหาใคร ศูนย์ดำรงธรรมเป็นเหมือนตัวแทนของภาครัฐ ที่รับฟังความเห็นของประชาชน

รัฐบาลได้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน อย่าบอกว่าประเทศปฏิรูปไม่ได้ทำ ต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปประเทศต้องทำอย่างไร มีกลไกหลายอย่าง เช่น ปฏิรูปตำรวจ เกี่ยวข้องกับใคร ตำรวจ อัยการ ศาล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปฏิรูปองค์กรภายใน ให้การบริการนอกพื้นที่ อย่าไปฟังอย่างเดียว ชื่อเสียง ชื่อตำแหน่ง เอาหลักฐานมาให้เลย หลายคนบอกว่าจะมีหลักฐานได้อย่างไร จะให้ทำอย่างไรเวลาทำชั่วก็ทำในที่ลับทั้งนั้น ตามได้ที่ไหน ก็บอกมา เปิดรับ ถ้าสอบแล้วไม่ใช่ คนร้องต้องมีเรื่อง ทำให้ทุกอย่างล่าช้า ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน คือ ด้านการเมือง การบริหารราชการ กฎหมาย ยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี และยังมีแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและด้านกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

ข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถสแกน QR CODE ได้ตามเอกสารที่แจกให้ อย่างอื่นถ้ามีอะไรสงสัยก็ถามเข้ามาจะตอบให้ ผ่านสำนักโฆษกอะไรต่าง ๆ ก็ได้ ถ้าทำงานกันแบบนี้ก็ก้าวหน้าต่อไปได้ ทุกคนร่วมมือกันนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ที่สำคัญคือ การหลอมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมกันจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้นกลางปีนี้ให้สมพระเกียรติที่สุด เพื่อความสุขสวัสดีและเป็นมงคลแก่บ้านเมืองสืบไป

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ