รองนายกฯ วิษณุ มอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรม โครงการ “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” ประจำปี 2562

ข่าวทั่วไป Monday April 22, 2019 15:00 —สำนักโฆษก

รองนายรัฐมนตรี นายวิษณุฯ ให้โอวาทผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” และ “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมมะห์ยุคใหม่” ย้ำถึงภาวะผู้นำที่สมบูรณ์ต้องมีบุคลิกลักษณะที่ดี มีความรู้ในด้านต่าง ๆ และมีคุณธรรม

วันนี้ 22 เมษายน 2562 เวลา 15.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนต้อนรับสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการวิชาการและประเมินผลสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” พร้อมมอบประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ให้แก่คณะกรรมการวิชาการและประเมินผลสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม จำนวน 8 คน และประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรมโครงการ “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” หลักสูตรที่ 1 ประจำปี 2562 จำนวน 36 คน และ หลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมมะห์ยุคใหม่” ประจำปี 2562 จำนวน 28 คน โดยมี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการจุฬาราชมนตรี นายประสาน ศรีเจริญ รองประธาน คณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน เข้าร่วมด้วย

นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม ได้กล่าวรายงานถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า สถาบันพัฒนาผู้นำอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรีได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากร ทั้งในส่วนของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนมุสลิมและนักธุรกิจ เพื่อเรียนรู้ในหลักธรรมคำสอนของศาสนากับการเปลี่ยนของสังคมในสภาวการณ์ปัจจุบันในหลากหลายมิติมากขึ้น ภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 49/2559 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 สำหรับในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินงาน การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำยังคงยึดแนวการศึกษาที่เน้นการนำพาและรักษาเอกราชอธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมเมือง เช่นเดิม และเน้นการทำให้ศาสนาได้กลับมาเป็นศูนย์กลางของกิจการต่าง ๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างให้องค์กรศาสนาเข้มแข็งและหลักศาสนธรรมมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของกิจการต่าง ๆ ในระดับที่เหมาะสม กับน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักศาสนา

ดังนั้นในปี 2562 จึงได้ดำเนินการศึกษาอบรมหลักสูตร“พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” หลักสูตรที่ 1 ปี 2562 รุ่นที่ 3 ซึ่งผู้เข้าศึกษาอบรม จำนวน 49 คน จาก 17 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 22 เมษายน 2562 อนึ่ง ในคราวมอบประกาศนียบัตรให้กับนักศึกษาในหลักสูตรที่ 1 ประจำปี 2561 รุ่นที่ 2 ท่านได้กรุณาสอบถามถึงผู้นำสตรี ท่านจุฬาราชมนตรีจึงได้มีดำริให้จัดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมะห์ยุคใหม่” ขึ้นเป็นผู้นำรุ่นแรกภายใต้แนวคิดที่จะเสริมสร้างศักยภาพของสตรี เพื่อให้ผู้นำสตรีซึ่งเป็นแกนหลักของชุมชนอยู่แล้วให้สูงขึ้นนำความรู้เทคนิคต่าง ๆ ไปเสริมสร้างให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นแก่ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นสตรี โดยได้ศึกษาอบรมระหว่างวันที่ 14 – 21 มีนาคม 2562 โดยมีสตรีมุสลิมเข้าร่วมศึกษาอบรม จำนวน 37 คน จาก 22 จังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของการศึกษาอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” ได้รับการสนับสนุนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และการศึกษาอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมะห์ยุคใหม่” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบโอวาทและนโยบายเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและแนวทางในการปฏิบัติ โดยได้กล่าวขอบคุณในนามของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่สำนักจุฬราชมนตรี ได้มีการจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนา” ขึ้น รวมทั้งเปิดอบรมหลักสูตรให้แก่บุคลากรประเภทต่าง ๆ ในทางศาสนาอิสลาม ซึ่งการเปิดฝึกอบรมหลักสูตรภาวะผู้นำเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยมีหลายหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ได้เปิดให้มีการจัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จุดประสงค์หลักของทุกสูตรมีความสอดคล้องตรงกันในเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำ (leader) และภาวะผู้นำ (leadership) โดยในทางทฤษฎีได้แบ่งผู้นำออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้นำทางนิตินัย คือ ผู้นำที่มีตำแหน่งหรือผู้นำทางกฎหมายรองรับ และ 2) ผู้นำทางพฤตินัย คือ ผู้นำที่ไม่มีตำแหน่งและกฎหมายรองรับ แต่มีภาวะผู้นำสูงสามารถพูดแล้วมีคนเชื่อถือคล้อยตามและปฏิบัติตามในสิ่งที่พูดหรือโน้มนาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บางครั้งผู้นำทางนิตินัยที่มีตำแหน่งก็ไม่ได้มีความเป็นผู้นำทางพฤตินัยคือพูดหรือกล่าวสิ่งใดแล้วไม่มีคนเชื่อถือและปฏิบัติตาม เพราะขาดภาวะผู้นำ หรือ leadership ขณะที่บางคนที่ไม่มีตำแหน่งทางนิตินัยหรือกฎหมายรองรับเลยแต่พูดแล้วกลับมีคนเชื่อถือและปฏิบัติตาม เพราะมีความเป็นผู้นำทางพฤตินัยคือมีภาวะผู้นำ (leadership) เช่น มหาตมะ คานธี เป็นต้น เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในที่นี้จะมีตำแหน่งใดหรือไม่มีตำแหน่งก็ตาม การที่ทุกคนได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเรื่องของภาวะผู้นำ หรือ leadership แล้ว ทุกคนสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตเมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้นำโดยนิตินัย ก็จะทำให้สามารถเป็นผู้นำที่สมบูรณ์พร้อมทั้งการเป็นผู้นำทางพฤตินัยและนิตินัยคือเป็น leader ที่ดีและเป็น leadership ด้วย

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำถึงภาวะผู้นำว่า การมีบุคลิกลักษณะที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำ แต่หากไม่มีตรงนี้ก็สามารถฝึกฝนได้ รวมไปถึงต้องมีความรู้ในด้านต่าง ๆ นอกจากเรื่องหลักที่จะนำผู้อื่น ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี การบริหารธุรกิจ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และศาสนา เพื่อนำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์และปรับใช้ให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน ตลอดจนต้องมีคุณธรรม ซึ่งหากบุคคลใดมีองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านก็จะทำให้บุคคลนั้นมีภาวะผู้นำที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ขอให้ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” และหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมะห์ยุคใหม่”(ผู้นำสตรีมุสลิม) ให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้อบรมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าและเต็มกำลังสติปัญญาและความสามารถ เพื่อความสงบสุขของแผ่นดินไทยตลอดไป และขอให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และมีสุขภาพที่ดีตลอดไป

.........................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ