นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อห่วงใย เหมืองทอง EEC PM2.5 COVID-19

ข่าวทั่วไป Tuesday February 25, 2020 15:40 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อห่วงใย เหมืองทอง EEC PM2.5 COVID-19

วันนี้ (25 ก.พ.63) เวลา 19.30 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจง

1) กรณีการระงับการทำเหมืองทองทั่วประเทศ ว่าการใช้มาตรา 44 ในขณะนั้นเป็นการระงับชั่วคราว โดยเป็นการดำเนินการกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำทุกราย มิได้เลือกปฏิบัติกับรายหนึ่งรายใด เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องประชาชนจากผลกระทบด้านสุขภาพและปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารพิษ และระงับความขัดแย้งของชุมชนในพื้นที่ที่อาจบานปลายได้ ซึ่งเป็นการตอบรับต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ที่มีมาตั้งแต่ปี 2550 และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2557-2559 ในสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่ารัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมไม่สามารถเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนของประชาชนได้ หากใครก็ตามที่มาเป็นผู้นำประเทศในวันนั้น เมื่อได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้ร้องเรียนมาเป็นเวลาถึง 10 กว่าปี ก็คงตัดสินใจดำเนินการไม่ต่างจากที่ได้ดำเนินการไป สำหรับข้อพิพาทระหว่าง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด และรัฐบาลไทย ในปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการได้ออกคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการบังคับมิให้คู่พิพาทเปิดเผยข้อเท็จจริงเอกสารและรายละเอียดต่าง ๆ ในคดีข้อพิพาทนี้ต่อสาธารณะ โดยจะกำหนดให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องและได้ลงนามในหนังสือรักษาความลับ (Confidentiality Undertaking) แล้วเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้ หากฝ่ายใดมีการเปิดเผยจะถือว่าขัดคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการและอีกฝ่ายหนึ่งจะสามารถนำข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางคดีได้ ดังนั้นเพื่อปกป้องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอันจะส่งผลต่อรูปคดี และความเสียหายต่อประเทศชาติ จึงไม่สามารถที่จะชี้แจงข้อมูลในรายละเอียดทั้งต่อสาธารณะและที่ประชุมได้รัฐบาลไทยมีความมั่นใจและยืนยันว่ามาตรการที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบที่กำหนด ผู้ประกอบการทุกรายยังคงมีสิทธิ์ในทรัพย์สินและใบอนุญาตที่ยังคงมีอายุอยู่เช่นเดิมมาโดยตลอด สำหรับคดีที่เกิดขึ้นขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ความเชื่อมั่นของนักลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมและการจ้างงานในพื้นที่ และภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

2)สำหรับกรณีสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากรในสนามบิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ ร่วมทุนฯ 2562 เนื่องจากร้านค้าปลอดภาษีไม่ใช่โครงสร้างพัฒนา 11 ด้าน ไม่ได้เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นขาดไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ของสนามบิน และศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่ากิจการร้านค้าปลอดอากร ไม่ใช่บริการสาธารณะ แต่เป็นการบริการเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในการร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นพิจารณาร่วมกันหลายหน่วยงาน และผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่การดำเนินการเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใด ผ่านกระบวนการถูกต้อง

3)กรณีการจัดสรรพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าได้มีการดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแผนผังการจัดสรรที่ดินในจังหวัด EEC ได้มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับภาคอุตสาหกรรม และรองรับประชากรในพื้นที่ดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 1. พื้นที่เมืองและชุมชนรวม 1 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มจากเดิม คิดเป็นมากกว่า 13% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน และสามารถรองรับต่อการพัฒนาเมืองเดิมและเมืองใหม่ได้ และ 2. พื้นที่อุตสาหกรรมรวม 424,854 ไร่ คิดเป็น 5.12% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งการตัดสินใจต้องมีการพิจารณาโดยคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และต้องได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี โดยร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่และการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมให้อยู่ห่างจากป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง ชายฝั่งทะเล โดยกำหนดพื้นที่สงวนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งวิธีการดูแลเยียวยาที่เหมาะสมยอมรับได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามผลงานต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเน้นย้ำให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสมอ

4)การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง หรือ PM 2.5 ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะใน ช่วงฤดูหนาว และในช่วงความกดอากาศสูงแผ่จากประเทศจีนมีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดสภาวะเหมือนมีฝาชีครอบ จนทำให้ฝุ่นสะสมจนเกินมาตรฐานบางเวลา โดยรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 มี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ฝุ่นละอองเกิดจากการจราจร ร้อยละ 72.5 โดยรัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาสำคัญ อาทิ นโยบายส่งเสริมและสนับสนุน การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถที่มีมลพิษต่ำ โครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้มีการรายงานทุกวัน ซึ่งจนถึงปัจจุบันจับได้แล้วกว่าหมื่นคัน นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีติดตาม กำกับดูแล รวมถึงประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเผา อันเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ การทิ้งก้นบุหรี่ และการเผากำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่ใกล้ป่าแล้วควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะอ้อย เพื่อให้ เกิดการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ขณะเดียวกันจะกำหนดมาตรฐาน รถยนต์ใหม่ตาม Euro 5 ภายในปี พ.ศ. 2564 และตาม Euro 6 ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยขั้นต้นได้ขอความร่วมมือให้มีการเปลี่ยน น้ำมันเครื่อง ตรวจไส้กรอง ตรวจสภาพรถยนต์ ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ เพื่อกำจัดฝุ่นละออง สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กในทุกเขต ปลูกไม้ 6 ชนิดที่วิจัยแล้วว่าดักฝุ่นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น รวมถึงมาตรการทางภาษีสรรพสามิต น้ำมัน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ได้แก่ สนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้ามา สนับสนุนและ ลดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อให้จำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 และ B20 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดา ลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นร้อยละ 0 เป็นเวลา 2 ปี (2563-2565) เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์กระบะ ตามเกณฑ์การปล่อยฝุ่นละออง (pm) หรือใช้เชื้อเพลิง B20 ปรับอัตราภาษี สรรพสามิตของรถจักรยานยนต์ให้สอดคล้องกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และกำหนดอัตราภาษีสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด ให้ต่ำกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งการดำเนินการแก้ไขต่างๆ รัฐบาลดำเนินการไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกับก็มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

5)การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งมีมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดเหตุแพร่ระบาดในต่างประเทศ อีกทั้งได้บูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ที่ได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการป้องกันให้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเร่งตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจร รวมไปถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ดังเช่นกรณีการให้ความช่วยเหลือเคลื่อนย้ายคนไทยกลับจากนครอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ย โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นลำดับแรก ซึ่งที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่สวมใส่หน้ากากอนามัย โดยได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยอย่างเร่งด่วนให้กับประชาชน รวมทั้งกำชับให้มีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในราคาที่เหมาะสมเพียงพอในแต่ละพื้นที่

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ