นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้าง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2021 14:00 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้าง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

วันนี้ (19 ก.พ. 64) เวลา 21.05 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงภาพรวมเศรษฐกิจและแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณประจำปี 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หากงบประมาณที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอจะพิจารณาตัดโครงการที่ไม่สำคัญออกเพื่อบริหารการเงินการคลังของรัฐบาล พร้อมหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลราคาสินค้า เพื่อบรรเทาความปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกันประเทศไทยมีรายจ่ายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร สาธารณสุข สุขภาพประชาชน การศึกษา ขณะที่ขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อสร้างรายได้ของประเทศลดลง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรียังขอบคุณผู้อภิปรายที่ร่วมเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ซึ่งรัฐบาจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ในฐานะทำหน้าที่ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแล SMEs ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กให้เข้าถึง Soft Loan เพื่อไม่ลดการจ้างงานและสามารถดูแลลูกจ้างพนักงานภายในห่วงโซ่ของตนได้ พร้อมยืนยันว่าเป็นห่วงประชาชนทุกภาคส่วนและไม่ได้มีการสนับสนุนนายทุนเจ้าสัว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 2556 ? 2562 โดย GDP ของปี 2557 ลดลงร้อยละ 1 จากนั้นตัวเลข GDP ได้ขยายตามลำดับ คือ ปี 2558 ขยายร้อยละ 3.1 ปี 2559 ขยายร้อยละ 3.4 ปี 2560 ขยายร้อยละ 4.1 ปี ปี 2561 ขยายร้อยละ 4.2 และในปี 2562 หดตัวร้อยเหลือร้อยละ 2.4 เนื่องจากตลาดส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง สงครามการค้าระหว่างประเทศ และในปี 2563 GDP ติดลบร้อยละ 6 เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งหวังให้ประเทศเดินไปสู่อนาคต ขณะเดียวกันก็ย้อนดูสถานการณ์ในอดีตถึงความพร้อมของประเทศไทย เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา ทำให้ปัจจุบัน ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยผูกพันกันในทุกระดับ ทุกช่วง ซึ่งก่อนปี 2557 ประเทศไทยไม่เคยมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ประเทศ จากเดิมที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) รวมทั้งโมเดลการส่งออกสินค้าที่แข่งขันกันเรื่องราคา ก็มีการแข่งขันสูงกันมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก โดยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพิงรายได้จากสินค้าการเกษตร จึงต้องเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ปลูกพืชให้ตรงต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามกฎ Demand และ Supply เพื่อไม่ให้พืชเกษตรหลัก 6 พืชของประเทศไทยมีปัญหา รวมถึงแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการใช้แรงงาน ที่ใช้แรงงานลดลง สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ต้องเร่งฟื้นฟูแก้ไขแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงคัดกรองคุณภาพนักท่องเที่ยวรายได้สูงเพื่อไทยได้ประโยชน์จากการใช้เงินในประเทศ

นายกรัฐมนตรีย้ำจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและจะจัดทำแพลตฟอร์มของไทยเพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นโดยไม่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านมา เพราะหากทำแบบเดิมก็จะได้ผลเช่นเดิมอีก แม้จะยากก็ต้องทำให้ได้

.......................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ