27 เอกชนไทยจับมือสร้างแนวร่วมต้านทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

ข่าวทั่วไป Tuesday November 9, 2010 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย จารุวัสร์ กรรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง"การประชุมระดับชาติว่าด้วยการสร้างแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชนไทย"ว่า เบื้องต้นมี 27 บริษัทชั้นนำเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และมีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการทำบันทึกข้อตกลง(MOU)กับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อต้านการทุจริตระหว่างภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ถือว่าการเริ่มต้นของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น จะทำให้การทุจริตและคอรัปชั่นในองค์กรลดลงได้ในอนาคต รวมถึงจะเป็นการแก้ไขการทุจริตคอรัปชั่นในระดับชาติ ซึ่งการประเมินตัวเลข Corruption Perceptions Index หรือ CPI ล่าสุดประเทศไทยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 3.5 ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ดังนั้น หากมีการทำการต่อต้านคอรัปชั่นอย่างจริงจัง เชื่อว่าค่าดัชนีจะเพิ่มขึ้น

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)กล่าวว่า การต่อต้านคอรัปชั่นควรเริ่มอย่างจริงจัง แม้ว่าจะใช้เวลานานแต่มีตัวอย่างที่ดี อย่างประเทศเกาหลีอดีตมีการคอรัปชั่นสูง แต่เมื่อเริ่มรณรงค์ต่อต้านตั้งแต่ปี 2003 ผ่านมา 7 ปี เกาหลีก็มีค่า CPI ดีขึ้นและมีค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านการคอรัปชั่นอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่เริ่มจากกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะเกิดการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นจะต้องเริ่มทำที่ระดับบุคคลในระดับสูงของประเทศที่มักใช้สิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการลดขั้นตอนในการขออนุมัติในเรื่องต่าง ๆ ก็น่าจะทำให้การทุจริตคอรัปชั่นลดลง

นางภัทรียา เบญจพลชัย ที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ขณะนี้ดัชนี CPI ของไทยอยู่ในระดับประมาณ 3.5 การที่ตั้งแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอรัปชั่น ควรจะมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าภายใน 5 ปีดัชนี CPI ควรจะอยู่ในระดับเกินกว่า 5% เพราะการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ทุกฝ่ายมีจุดเริ่มต้นในการรณรงค์ร่วมกัน และบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีการจัดทำโครงการประเภทนี้ควรจะนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อให้มีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน

รวมถึงเห็นด้วยกับการลดขั้นตอนในการอนุมัติโครงการ หรือทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ มีความชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่น

ส่วนนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนไทยเป็นคนขี้เกรงใจ

หากเราไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ทำความผิดและมี collective action จะทำให้มีการพัฒนาไปในระดับชาติ จากการที่เริ่มต้นจาก 27 องค์กรเอกชน ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีขนาดไม่น้อย เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ขยายแนวคิดนี้ไปในวงกว้าง แต่เราควรต้องมีแรงจูงใจเพื่อเป็นกำลังใจเพื่อให้คนหันมาร่วมมือและเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วย

ด้านนายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง แม้ว่าจะต้องใช้เวลายางนานถึง 10-15 ปี แต่หกกได้เริ่มลงมือทำก็จะเกิดการแพร่กระจายแนวคิดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมควรจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ซึ่งหลายประเทศที่ได้ดำเนินการและได้เริ่มต้นก็สามารถทำได้จริงและเห็นผล หากทุกคนทำอย่างจริงจัง

ส่วนนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) กล่าวว่า องค์กรของบางจากฯมีความเข้มงวดและจริงจังในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น โดย 4 ประเด็นที่ให้ความสำคัญคือ ความปลอดภัย , คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, ทำเพื่อสังคม และ การทุจริตภายในองค์กร

ขณะที่ภาครัฐควรจะมีแนวนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดความผิดในมาตรฐานเดียวกัน หากมีผู้ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าได้เริ่มทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็เชื่อว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐและเอกชนจะลดลง ซึ่งจะช่วยสร้างสำนึกของคนในประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ