In Focusวิกฤตอาหารโลก วาระร้อนที่ต้องแก้ไข ก่อนเติมเชื้อไฟสงครามกลางเมือง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 16, 2011 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ต้นปี 2554 ข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจนั้น นอกเหนือจากมหากาพย์การประท้วงขับไล่ผู้นำในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือแล้ว "วิกฤตอาหารโลก" ถือเป็นสถานการณ์ที่คนทุกชนชั้นจับตาดูอย่างไม่ลดละ เพราะราคาอาหารที่แพงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล้วนมีประเด็นราคาอาหารแพงเป็นหนึ่งในชนวนเหตุ อันที่จริงนายฌากส์ ดิอูฟ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ตีฆ้องร้องเตือนให้ทุกประเทศตื่นตัวเรื่องวิกฤตอาหารโลกมาตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยระบุว่า วิกฤตการณ์อาหารที่เป็นผลมาจากราคาอาหารที่แพงขึ้นและอาจลุกลามไปสู่สงครามกลางเมือง อีกทั้งยังสำทับว่า หากผู้นำเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนเรื่องวิกฤตอาหาร ก็เท่ากับนำพาประเทศตนเองไปสู่หายนะ

แต่ผู้ที่ช่วยกระตุกต่อมผู้นำทั่วโลกให้ตื่นตัวอีกครั้ง ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลก นูเรียล รูบินี ที่ลุกขึ้นเตือนกลางที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า ภาวะอาหารแพงถือเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ตูนีเซีย โมร็อกโค แอลจีเรีย และปากีสถานในช่วงนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น หรือความไม่เท่าเทียมด้านรายได้และความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงด้วย และล่าสุด ...สัญญาณเตือนภัยเรื่องอาหารแพงก็ดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อนายโรเบิร์ต บี เซลลิก ประธานธนาคารโลก กล่าวในที่ประชุมที่กรุงวอชิงตันเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ว่า ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตรายแล้วในขณะนี้ และได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ยากจน 44 ล้านคนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2553

หัวเรือใหญ่ของเวิลด์แบงก์มีมุมมองที่สอดคล้องกับนูเรียล รูบินี ว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะจุดปะทุให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลางมากขึ้น ทั้งยังเตือนว่าราคาอาหารที่แพงขึ้นกำลังกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะรุนแรงขึ้น

ประเด็นราคาอาหารแพงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อการอภิปรายในวงกว้างในหมู่ผู้นำของโลก เนื่องจากหลายฝ่ายเริ่มยอมรับว่า วิกฤตราคาอาหารเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนของตูนิเซีย จนนำไปสู่การลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดี ซิเน เอล อาบิดีน เบน อาลี จนต้องระเห็จไปขอลี้ภัยทางการเมืองในซาอุดิอาระเบีย และกระแสดังกล่าวยังขยายผลไปยังอียิปต์ ซึ่งเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ต้องยอมลงจากตำแหน่งหลังจากกอดเก้าอี้ผู้นำมานานกว่า 30 ปี เพราะไม่อาจต้านทานพลังมวลชนที่ทนไม่ได้กับปัญหาคอรัปชั่นและราคาข้าวปลาอาหารที่แพงขึ้น

รายงานฉบับล่าสุดของ "Food Price Watch" ซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารโลก บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาอาหารโลก หรือตะกร้าราคาอาหารพื้นฐานที่ประกอบด้วยน้ำตาล ซีเรียล ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันและไขมัน และเนื้อสัตว์ พุ่งขึ้น 15% ในช่วงเดือนต.ค.2553 จนถึงเดือนม.ค.2554 ส่วนดัชนีราคาอาหารโลกเฉพาะเดือนม.ค.2554 เพิ่มขึ้นไปแล้ว 3.4% ทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดนับจากเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2533 ...เป็นสถิติที่น่าใจหายแค่ไหน ก็คิดดูเอาเถิด

เราต่างก็ทราบว่า โลกอันกว้างใหญ่ใบนี้มีทรัพยากรและแหล่งอาหารมากมายมหาศาล แต่ทำไมประชากรหลายสิบล้านคนยังหิวโหยและทำไมยังมีเด็กมากมายต้องอดตายในแต่ละวัน เมื่อพลิกรายงานที่มีการเปิดเผยทั้งในส่วนของสหประชาชาติและบรรดาผู้เชี่ยวชาญระดับโลกก็พบว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นมีสาเหตุหลักๆมาจากการนำพื้นที่เพื่อการผลิตอาหารไปใช้สนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างกว้างขวาง รวมถึงการนำธัญพืชที่เดิมเป็นอาหารหลักของมนุษย์นั้น ไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตด้านราคาอาหารก็จะเกิดตามมาเป็นวัฏจักร เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานเข้ามาแย่งวัตถุดิบไปจากอุตสาหกรรมอาหารเพื่อนำไปผลิตพลังงาน จึงทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนสาเหตุอื่นๆนั้น ได้แก่ ภัยธรรมชาติที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาภาวะโลกร้อน ปราฏการณ์เอลนินโญและลานีญา ปัญหาน้ำท่วมในออสเตรเลีย สภาพอากาศแห้งแล้งในอาร์เจนตินา และพายุฤดูหนาวที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดในสหรัฐ ที่ดันราคาข้าวสาลีในตลาดล่วงหน้าพุ่งทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า การเก็งกำไร และการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ เป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตอาหารโลกด้วย

เมื่อย้อนรอยดูสถานการณ์ราคาอาหารโลกที่อุบัติขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2551 ก็พบว่า FAO เคยออกรายงานเตือนไว้ว่า มีอย่างน้อย 37 ประเทศในเวลานั้นที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์อาหารโลกอย่างแท้จริง โดยดัชนีเฉลี่ยราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติในช่วงมีนาคม 2551 เท่ากับ 220 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคมของปีก่อนๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 โดยดัชนีอาหารเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลระหว่างผลผลิตและความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้นิยามปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ว่า เป็น "Perfect storm of conditions" ขณะที่องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ได้ตั้งชื่อวิกฤตการณ์นี้ว่า เป็น "Silent Tsunami" หรือ "สึนามิเงียบ" ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ก่อน แต่สหประชาชาติก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแนวทางแก้ไขมาตั้งแต่เกิดวิกฤตในช่วงต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยวิกฤตอาหาร ซึ่งผู้นำทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่า จะลดอุปสรรคทางการค้าและจะส่งเสริมการผลิตภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์อาหารที่ทำให้เกิดภาวะอดอยากและนำไปสู่การก่อความไม่สงบรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก

คอลัมน์ In Focus นำเสนอบทความ "วิกฤตอาหารโลก" ด้วยเจตนาที่ต้องการให้ผู้อ่านรู้เท่าทันถึงสถานการณ์ราคาอาหารและสาเหตุที่ทำให้ราคาแพงขึ้นทั่วโลก และขอจบลงด้วยการยืมคำพูดของท่านโรเบิร์ต บี เซลลิก ประธานธนาคารโลก ที่กล่าวเคยไว้บนเว็บไซต์ของธนาคารโลกเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2551 ว่า "While many are worrying about filling their gas tanks, many others around the world are struggling to fill their stomachs, and it is getting more and more difficult every day" ...ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งกังวลเรื่องการเติมน้ำมันให้กับรถของตนเอง แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายทั่วโลกต้องดิ้นรนเพื่อหาอาหารมาเติมเต็มกระเพาะ ซึ่งนับวันมีแต่จะยากเย็นแสนเข็ญขึ้นเรื่อยๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ