ก.เกษตรฯ เร่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2011 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรได้ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือระยะที่ 1 แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยปี 2553 เรียบร้อยแล้วจำนวน 64 จังหวัด โดยจากการเตรียมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงรวม 9 ชนิดพันธุ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 16,390 ตัน ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวผ่านศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 10,750 ตัน และอยู่ระหว่างจัดส่งอีกจำนวน 1,213 ตัน รวมเป็นจำนวน 11,963 ตัน

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยปี 2553 เพื่อช่วยให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวได้ทันทีหลังน้ำลด (ระยะที่ 1) จากพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 74 จังหวัด วงเงิน 327.8 ล้านบาท

จากการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง พบว่า ความเสียหายด้านพืช จากจังหวัดประสบภัย จำนวน 74 จังหวัด พบว่า เป็นพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง จำนวน 7.75 ล้านไร่ เกษตรกร 737,400 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 17,730 ล้านบาท

ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นเงิน โดยจ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้วจำนวน 82,500 ราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 207 ล้านบาท รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ได้ขอเงินจากงบกลาง วงเงิน 17,697 ล้านบาท และ ธกส.โอนเงินเข้าธกส.สาขาแล้ว วงเงิน 17,578 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 661,107 ราย วงเงิน 15,843 ล้านบาท

สำหรับการให้ความช่วยเหลือค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวในระยะที่ 2 เพื่อปลูกในช่วงฤดูปกตินั้น กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลจากพื้นที่ที่ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยจะมีการตรวจสอบรายละเอียดให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเพื่อจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบอีกครั้งต่อไป

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553 นั้น ขณะนี้ได้สำรวจแล้วพบว่า สวนยางเสียสภาพสวน 51,836 ไร่ เกษตรกร 33,210 ราย เป็นเงิน 311.38 ล้านบาท ปลูกแทน 38,189 ไร่ เป็นเงิน 420.08 ล้านบาท ปลูกซ่อม 1.59 ล้านต้น เป็นเงิน 47.97 ล้านบาท ค้ำยันและค่าปุ๋ย 151.22 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 930.65 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ส่งเอกสารให้ ธกส.แล้ว 287.92 ล้านบาท และ ธกส. โอนเงินให้ ธกส.สาขา เพื่อโอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 191.34 ล้านบาท และโอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้วจำนวน 6,154 ราย วงเงิน 136.15 ล้านบาท

จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตรขณะนี้ พบว่ามี พื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตรแล้วจำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะเสียหาย 66,830 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 11,414 ไร่ พืชไร่ 53,151 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 2,265 ไร่ เกษตรกร 10,133 ราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 หน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย

สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในขณะนี้พบว่า ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่า ร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 2 อ่าง ได้แก่ เขื่อนทับสเลา และ ปราณบุรี และปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำ มากกว่า ร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 6 อ่าง โดยผลการจัดสรรน้ำ จัดสรรน้ำไปแล้ว 13,690 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนการจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มเจ้าพระยา จัดสรรน้ำไปแล้ว 6,370 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผน ขณะที่ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง พบว่า มีพื้นที่ปลูกแล้ว จำนวน 16.40 ล้านไร่ จากแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง 15.29 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรังปลูกแล้ว 14.31 ล้านไร่ จากแผน 12.60 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก ปลูกแล้ว 2.08 ล้านไร่ จากแผน 2.69 ล้านไร่

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติด้านการเกษตรซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ในวันอังคารที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ