เอแบคโพลล์เผยปชช.สุขขึ้นหลังเลือกตั้งผ่านพ้นด้วยดี หวังพท.ทำตามหาเสียง

ข่าวทั่วไป Sunday July 10, 2011 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขคนไทยหลังเลือกตั้ง และนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,562 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 - 9 กรกฎาคม 2554 พบว่าหลังการเลือกตั้งที่ผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness) หรือที่เรียกว่า GDH เพิ่มสูงขึ้นจาก 6.61 ในเดือนมีนาคม 2554 มาอยู่ที่ 7.55 ในเดือนกรกฎาคม และเป็นค่าความสุขมวลรวมที่สูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันในปี 2552 ที่ 5.92 และปี 2553 ที่ 6.77 อีกด้วย

ผลสำรวจพบว่าสิ่งที่สาธารณชนต้องการให้พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ “ทำทันที" ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ประชาชนส่วนต้องการให้ปราบปรามยาเสพติด มาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ให้สร้างความปรองดองของคนในชาติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข อันดับที่ 3-9 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งสิ้นที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยทำทันที ได้แก่ ลดราคาน้ำมันเบนซิน 6 — 7 บาท/ลิตร และลดดีเซลลง 2 บาท/ลิตร นำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใช้ใหม่ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน โครงการรับจำนำข้าวเปลือกขาว 15,000 บาท/เกวียน ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/เกวียน ขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีเริ่มขั้นต่ำ 15,000 บาท/เดือน หักหนี้สำหรับผู้มีหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพิ่มกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเงินตำบลละหนึ่งล้านบาท และทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ แถวสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยไม่ต้องกู้

นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้และอยากให้ทำทันทีอื่นๆ อีก เช่น ทำรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย คิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำรถไฟความเร็วสูงไปโคราช ระยอง จันทบุรี แจกคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ให้เด็กนักเรียนทุกคน และออกบัตรเครดิตการ์ดให้เกษตรกร เป็นต้น

ทั้งนี้ความมั่นใจของประชาชนต่อพรรคเพื่อไทยจะมุ่งมั่นทำงานให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเท่าเทียมกันไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกของตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ค่อนข้างมั่นใจถึงมั่นใจ แต่ที่น่าพิจารณาคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 41.6 ยังไม่ค่อยมั่นใจ ถึง ไม่มั่นใจ ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.5 ยังคิดว่า ปัญหาคอรัปชั่นจะเหมือนเดิม และร้อยละ 20.3 จะเพิ่มขึ้น แต่เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.2 คิดว่าจะลดน้อยลง

“ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 สนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ตัวเลขที่สนับสนุนที่สูงขนาดนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับฐานสนับสนุนของสาธารณชนที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในการเลือกตั้งครั้งแรกที่เขาได้รับและในศาสตร์ด้านการทำสำรวจถือว่า เป็นฐานเสียงสนับสนุนที่มากพอต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ได้โดยง่าย และผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.0 ก็สนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปอีกด้วย" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือ การรวมตัวกันของพรรคการเมืองต่างๆ จนได้ 299 หรือ 300 เสียงจะเป็นหลักประกันเสถียรภาพของรัฐบาลที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งผู้วิจัยมองว่า สิ่งที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลและต้องให้ระวังคือ “อคติแห่งนครา" อันเป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจและความทรงอิทธิพลของกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่สามารถกดดันการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองได้ และมักจะมีอิทธิพลอยู่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ หรืออาจอยู่ในต่างประเทศ โดยคนกลุ่มนี้พยายามกดดันการตัดสินใจของผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลให้ทำสิ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ

ในขณะที่ภาคประชาชนอ่อนแอเกินที่จะต่อรองได้และจะถูกใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีเกมการเมือง" ที่ห้ำหั่นกันโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายโดยรวมของประเทศและอาจทำให้เกิด “วัฏจักรแห่งความเลวร้าย" ในสังคมไทยที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ต้อง “หยุดอคติแห่งนครา" เสีย และหันมาส่งเสริมมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้มแข็งอย่างแท้จริงมาเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศเตรียมตัวเป็นผู้นำเปิดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของสาธารณชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ