สธ.ห่วงผู้ป่วย HIV ขาดยาเพราะน้ำท่วม ประสานความช่วยเหลือรพ.ทุกจังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday October 20, 2011 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมในขณะนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่กินยาต้านไวรัส ซึ่งต้องกินยาเป็นประจำ นอกจากจะประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมแล้ว ยังอาจเกิดปัญหายาสูญหายไปกับสายน้ำ และไม่สามารถไปรับยาที่โรงพยาบาล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และโรงพยาบาลทุกจังหวัด เร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ป่วยอื่นๆด้วยเช่นผู้ป่วยวัณโรค เพื่อป้องกันการขาดยา ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้

ทางด้านนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ประสานขอความร่วมมือโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีเขตพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมติดต่อผู้ติดเชื้อที่รับประทานยาต้านไวรัสในพื้นที่ และนัดหมายให้มารับยาอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดยา ในกรณีที่ติดเกาะหรือผู้ติดเชื้อไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้ ให้ประสานกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ซึ่งกำลังประสานหาทีมงานเรือเร็วในบางพื้นที่เพื่อเป็นกำลังจัดส่งยาให้

นอกจากนี้ ยังได้ประสานให้ สปสช. ให้โรงพยาบาลสามารถจ่ายยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อที่จำเป็นได้ทุกสิทธิการรักษา ในช่วงที่มีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายย้ายที่อยู่ หรือ ต้องอพยพออกจากพื้นที่

"ขณะนี้โรงพยาบาลกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ติดตามไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ติดเชื้อ ติดต่อรับยาต้านไวรัสได้ที่โรงพยาบาลที่สะดวก โดยกรมควบคุมโรคได้จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานที่โรงพยาบาลในเขตพื้นที่ที่น้ำท่วม"นพ.พรเทพกล่าว

สำหรับพื้นที่ 18จังหวัดภาคกลาง ที่ประสบภัยน้ำท่วม มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 23,400คน และคาดว่ายังมีผู้ติดเชื้อในโครงการอื่นๆ อีกกว่า 9,000คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องกินยาต้านไวรัสเป็นประจำ แต่จากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการขาดยา และอาจเกิดเชื้อดื้อยาขึ้นได้

ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อขาดยาเพียง 1 หรือ 2 วัน เชื้อไวรัสในร่างกาย อาจดื้อยาทำให้ผู้ติดเชื้อกลับไปเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ ได้อีก ผลจากการดื้อยาทำให้เหลือยาที่เป็นทางเลือกในการรักษาน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ