"ปลอดประสพ"ชี้น้ำจะเอ่อท่วมฝั่งธน 80-90%,ฝั่ง ตต.ไม่กระทบนิคมลาดกระบัง

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2011 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปริมาณมวลน้ำจากภาคเหนือประมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ตกค้างอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งมวลน้ำดังกล่าวจะกระจายไปทางด้านตะวันออกและตะวันตกของ กทม. โดยมีน้ำบางส่วนไหลเข้าท่วมทุ่งเป็นจำนวนมาก และต้องรอให้แสงแดดเผาระเหยกลับสู่ชั้นบรรยากาศ หรืออาจต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากพื้นที่เหล่านี้ลงไปตามแม่น้ำสายหลักแล้วไหลลงทะเลต่อไป ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ กทม.จึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

นายปลอดประสพ กล่าวว่า พื้นที่ทางทิศเหนือของ กทม.คงต้องเจอกับสภาพน้ำทะลักเข้าท่วมต่อไป เนื่องจากยังคงต้องรับปริมาณน้ำที่มาจาก จ.ปทุมธานี และคลองต่างๆ ส่วนพื้นที่ฝั่งทางตะวันตกของ กทม.จะหนักหน่อย เพราะจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ดังนั้นปริมาณน้ำจะไหลแผ่ขยายเป็นวงกว้าง เรียกได้ว่า ประมาณ 80-90% ของพื้นที่ฝั่งธนบุรี

"กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกหนักหน่อย น้ำจะทะลักแผ่เป็นวงกว้าง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรีเกือบทั้งหมด ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไม่เว้นแม้กระทั่งบ้านของ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่น่ารอด จะมีน้ำไปเยี่ยมถึงบ้าน แต่จะมากหรือจะน้อยก็เป็นอีกเรื่อง" นายปลอดประสพ กล่าว

ส่วนพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออกนั้นจากการสำรวจเมื่อคืนที่ผ่านมาพบว่าปริมาณน้ำทุ่งรังสิตเริ่มคงที่ จึงสามารถตีความได้ 2 อย่าง คือ 1.ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือเริ่มหมดแล้ว 2.การผันน้ำเริ่มไปสู่ทิศตะวันออกของ กทม.มากขึ้น แสดงถึงสัญญาณที่ดี เนื่องจากหากมวลน้ำเริ่มคงที่ ไม่เพิ่มขึ้น จะทำให้แนวป้องกันต่างๆ อาทิ บริเวณคลองหกวาสายล่าง คลองสอง ความกดดันจากแรงดันของน้ำจะลดลง จนแนวป้องกันสามารถต้านทานได้ มิเช่นนั้นหากยังมีปริมาณน้ำไหลมาสมทบ อาจจะทำให้แนวเขื่อนป้องกันแตก จนมีปริมาณน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่ของประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม การผันน้ำมาทางด้านตะวันออกของ กทม.มากขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ กทม.เป็นไปในลักษณะค่อยๆ ไหลซึมมาอย่างช้าๆ ไม่ใช่ไหลแบบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะตอนนี้อยากให้น้ำมาฝั่งนี้แต่ยังไม่ค่อยจะมา ดังนั้นเชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังน่าจะรอดจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ