สศช.เผย Q2/55 ตัวเลขว่างงาน 0.85% สูงขึ้นตามกำลังแรงงานเพิ่มเร็วกว่าการจ้าง

ข่าวทั่วไป Monday August 27, 2012 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กล่าวว่า อัตราการว่างงานไตรมาส 2/55 เพิ่มขึ้นเป็น 0.85% โดยมีจำนวน 334,121 คน สูงกว่าอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่อยู่ในระดับ 0.6% เนื่องจากกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นมาก โดยมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 521,199 คน เพิ่มขึ้น 13.6% และกำลังแรงงานรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2.1%

ขณะที่ความต้องการของตลาดนั้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.6% ช้ากว่าการเพิ่มของกำลังแรงงาน เพราะการลงทุนและการผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ เป็นผลจาก ทั้งผลกระทบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และผลกระทบจากน้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว ทำให้บางกิจการต้องปิดตัวลงและบางกิจการยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้ยูโร

สำหรับการติดตามสถานการณ์การเฝ้าระวังด้านการว่างงานในระยะต่อไป ได้แก่ ในระยะสั้น ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยเริ่มส่งสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การว่างงานที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในไตรมาสสองยังลดลง 1.2% และจำนวนผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 0.7% ขณะที่ผู้ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 11.2%

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้แก่ แรงงานผลิตเพื่อส่งออก แรงงานในภาคบริการท่องเที่ยว และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในยุโรป ส่วนในระยะยาว ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการพัฒนาของประเทศและคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุน้อย (15-39 ปี) แต่มีการศึกษาต่ำเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่จะน้อยลงในเชิงปริมาณภายใต้โครงสร้างประชากรสูงอายุ หากไม่เร่งแก้ไข

สศช.ระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมาก ระดับการศึกษาต่ำ และทำงานนอกระบบ จะเป็นข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญในอนาคต นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ไม่เพียงพอ และไม่สามารถเก็บออมได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้

ในช่วงวัยสูงอายุ แรงงานที่มีการศึกษาในระดับประกาศวิชาชีพชั้นสูง และอุดมศึกษาในหลายสาขามีอัตราการว่างงานสูง ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อของการผลิตกำลังคนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งควรมีการทบทวนโครงสร้างการผลิตของสาขาการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ ความพร้อมของสถาบันการศึกษา และตรงกับความต้องการของตลาด

นายอาคม กล่าวว่า แรงงานไทยถือว่ามีความเสียเปรียบชาติอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะในด้านภาษาอังกฤษและความหลากหลายของภาษา ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับต่ำมากใน 42 ประเทศของการจัดอันดับของ English Proficiency Index (EPI) จึงเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่องกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับประชาชนไทยให้สามารถสื่อสารได้

ขณะที่เด็กไทยรุ่นใหม่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะภาษาของประเทศเพื่อนบ้านและภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี (อาเซียน+3) อย่างน้อย 1 ภาษา เพื่อการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ และการทำความรู้จักและเข้าใจประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะภาษามลายูกลาง เพื่อสื่อสารกับประชากรครึ่งหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ที่พูดภาษามลายู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ