สธ.เตรียมเสนออนุมัติให้"อีโบลา"เป็นโรคติดต่ออันตรายในสัปดาห์หน้า

ข่าวทั่วไป Sunday August 10, 2014 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมเสนออนุมัติโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เป็นโรคที่ 6 ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่

"กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอขออนุมัติที่ประชุมของฝ่ายสังคมและจิตวิทยาในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับทันที" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว

ขณะนี้ สธ.ติดตามประเมินสถานการณ์โรคอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในส่วนมาตรการของประเทศไทยที่ใช้ขณะนี้ นอกจาก 4 มาตรการหลักคือ การเฝ้าระวังโรคผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีปัญหาแพร่ระบาดที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งทุกวัน ความพร้อมด้านการดูแลรักษาของทีมแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็ว การให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนที่ถูกต้องแล้ว จะเพิ่มมาตรการทางด้านกฎหมาย เพื่อผลในการจัดการด้านสาธารณสุข คือ การเพิ่มประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เป็นโรคที่ 6 จากเดิมที่มี 5 โรคได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง กาฬโรค และโรคซาร์ส หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้น ทั้งในคนและสัตว์ โดยตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบท่าอากาศยาน ท่าเรือหรือท่าขนส่งทางบก เป็นต้น

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มาตรการสำคัญที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เช่น 1.มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมือง สามารถตรวจตราพาหนะและตรวจผู้เดินทาง สิ่งของหรือสัตว์ที่มากับพาหนะ ตรวจตราและควบคุมให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ แก้ไขการสุขาภิบาลของพาหนะให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ ห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ เป็นต้น

2.กรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้น ให้บุคคลต่างๆ เช่น เจ้าบ้าน เจ้าของพาหนะ แพทย์หรือสถานพยาบาลผู้ให้การรักษาผู้ป่วย แจ้งต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบสวนโรค ควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค หรือคุมไว้สังเกตอาการจนกว่าจะได้รับการตรวจว่าพ้นระยะติดต่อแล้ว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ