"สุขุมพันธ์"เปิดโครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คาดเสร็จปี 59

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2014 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อว่า เมื่อการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อแล้วเสร็จในปี 2559 ประชาชนที่สัญจรไป-มาบนถนนวิภาวดีรังสิต พหลโยธิน จะได้รับความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว น้ำรอระบายแทบจะไม่มี

ทั้งนี้ กทม.มีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำอีก 4 แห่ง บริเวณบึงหนองบอน ดอนเมือง คลองทวีวัฒนาตัดคลองภาษีเจริญ และบึงสนามไชย เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว กทม.จะปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่อเกิดฝนตกหนักและน้ำขังรอระบาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการรวมทั้งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยในปีหน้า กทม.จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่บึงหนองบอน ส่วนคลองทวีวัฒนาตัดคลองภาษีเจริญ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างและประสานความร่วมมือจากรัฐบาลและจังหวัดสมุทรปราการที่จะส่งน้ำลงคลองสุวรรณภูมิและออกสู่อ่าวไทยต่อไป

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ซึ่งจะมีพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง ซึ่งจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกโดยครอบคลุมบริเวณถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดอ่อนน้ำท่วม ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ช่วงจากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว, ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว, ถนนรัชดาภิเษก ช่วงจากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ, ถนนลาดพร้าว ช่วงจากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ, ถนนกำแพงเพชร ช่วงจากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร และถนนสามเสน ช่วงจากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย

นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวด ช่วงถนนพหลโยธิน ถึงถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในคลองบางซื่อ เนื่องจากต้องรับน้ำจากโครงการบำบัดน้ำเสียระยะที่ 4 ปริมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง โดยอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 เมตร ยาวประมาณ 6,400 เมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยลำเลียงน้ำจากพื้นที่เขตต่าง ๆ ข้างต้น ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ลดระยะเวลาการเดินทางของน้ำ โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการก่อสร้าง 2,483 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ