สปช.จี้ ปปง.ยึดทรัพย์"ธัมมชโย" เล็งเชิญดีเอสไอ-กรมที่ดินให้ข้อมูลเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2015 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรณีพระธัมมชโยเกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) มาซักถามได้ความว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กระทำความผิดฉ้อโกงประชาชน และได้สั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.สั่งจ่ายเช็คให้พระธัมมชโย จำนวน 8 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 348.78 ล้านบาท จากนั้นพระธัมมชโยได้สั่งจ่ายเงินเข้าไปยังมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ 2.สั่งจ่ายเช็คให้กับวัดธรรมกาย จำนวน 6 ฉบับ เป็นเงิน 436 ล้านบาท นำเงินไปเป็นค่าก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างของวัด และ 3.จ่ายให้กับผู้ช่วยของพระธัมมชโย หรือพระปลัดวิจารณ์ เป็นเงิน 119.02 ล้านบาท ถอนออกมาเป็นเงินสดทั้งหมด ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งสิ้น 903.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงการสั่งจ่ายไปยังรายบุคคลหรือบัญชีอื่น เพื่อซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อ ปปง.ว่า เหตุใดจึงไม่อายัดบัญชีของพระธัมมชโยที่มีเงินถึง 300 กว่าล้านบาท ทั้งที่ควรยึดบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของพระธัมมชโย เพราะเป็นเงินที่ได้จากการฉ้อโกง รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของวัด 196 ไร่ ที่เป็นเขตธรณีสงฆ์ และทราบว่าวัดธรรมกายมีพื้นที่อีกกว่าพันกว่าไร่ในนามมูลนิธิธรรมกายและมูลนิธิอื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นเขตธรณีสงฆ์ ฉะนั้นจึงสามารถบังคับคดีได้

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 มี.ค.นี้จะเชิญผู้แทนของดีเอสไอและกรมที่ดินมาให้ข้อมูล โดยจะขอให้กรมที่ดินตรวจสอบที่ดินที่อยู่ในส่วนของมูลนิธิฯว่ามีที่มาถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนจะขอสำเนาเช็คสั่งจ่ายทั้งหมดของวัดธรรมกายมาตรวจสอบ รวมทั้งจะมีการรวบรวมข้อมูลไปให้ รมว.ยุติธรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. นอกจากนี้ กรรมการฯ บางคนเป็นห่วงว่า จะต้องมีการตรวจสอบเงินภายในวัด เนื่องจากอาจจะเป็นแหล่งฟอกเงินได้ ซึ่งไม่มีการเสียภาษี

นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงมติมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.58 ที่ระบุว่า พระธัมมชโย ไม่ปาราชิก ว่า ที่ประชุมฯ ไม่เห็นด้วยกับมติ มส.ล่าสุด เพราะเป็นการยกเลิกพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งมติ มส.ฉบับที่ 193/42 โดยเห็นว่า เป็นมติที่เป็นปัญหา แม้จะเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมก็ตาม แต่ก็ต้องชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย จะมาขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัยไม่ได้ เพราะเมื่อปาราชิกไปแล้วก็ถือว่าจบ ไม่สามารถกลับมาเป็นพระได้ใหม่อีก จึงอยากเรียกร้องให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช และรับรองโดยมติ มส. ฉบับที่ 193/42 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ