นายกฯเร่งโครงการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมาให้เกิดในปี60

ข่าวทั่วไป Saturday May 28, 2016 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการ ณ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือ โดยได้ไปพบปะกับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็ง เสริมการเรียนรู้ สนับสนุนการพัฒนาตนเองตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง อาทิเช่น โครงการเพิ่มศักยภาพพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ การแปรรูปข้าวหอมมะลิ – มันสำปะหลัง – อ้อย – ยางพารา ให้มีราคาสูงขึ้นมีนวัตกรรม

ในส่วนของการส่งเสริมประมงพื้นบ้าน ได้มีการมอบพันธุ์กุ้งและพันธุ์ปลาตะเพียน เรื่องการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี เป็นป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ 3,182 ไร่ แก่ราษฎร 199 ราย ใน 2 อำเภอ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ให้แก่เกษตรกร จำนวน 11 แปลง พื้นที่ 21,057 ไร่ ใน3 อำเภอ ส่วนโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ OTOP สู่สากล ซึ่งเรามีการพัฒนาลำดับ 1 – 2 – 3 แต่ถ้าเราเลื่อนจาก 3 มา 2, 2 ไป 1 ก็จะไปสู่สากลได้เร็วขึ้นนะครับ ขอให้ทุกคนร่วมกันพัฒนา

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ นะครั บ มี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการเตรียมการ การพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำ การระบายน้ำ การพร่องน้ำ การแจกจ่ายน้ำไปพื้นที่การเกษตร เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยภัยพิบัติ ด้วยโลกเปลี่ยนแปลงเช่นฝน แล้ง น้ำท่วม เราจะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่น้อยเกินไป หรือน้ำที่มีมากเกินไปได้อย่างไร นี่เขาเรียกว่า มี 2 ขั้นตอน เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำจะต้องทำทั้ง 2 อย่าง ว่ามีแผนอย่างไร ในพื้นที่เสี่ยงภัยอะไรบ้าง ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ถ้าไปดูใน AGRI Map ของกระทรวงเกษตรจะเห็นทั้งหมดเลยว่าประเทศไทยนั้นมีน้ำที่ไหน พื้นที่สูง พื้นที่ต่ำตรงไหน ซึ่งผมก็กำลังให้เขาทำรายละเอียดเพิ่มเติมอีก สามารถเข้าไปดูได้

ในการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในลุ่มน้ำสำคัญ ที่ จ.นครราชสีมาที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในปี 58/59 จำนวน 11 อำเภอนะครับ มากพอสมควร พื้นที่ได้รับความเสียหาย 467,706 ไร่ และพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 53, 56 กระทบพื้นที่การเกษตรและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน จำนวน 2 อำเภอ ผมได้รับรายงานความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการจัดทำฝายกั้นน้ำ ตามแนวทาง “ประชารัฐ" สำเร็จไปแล้ว จำนวน 170 แห่ง เพือชะลอน้ำ กักเก็บน้ำไว้ให้สามารถที่จะเลี้ยงพืช ผัก สวนครัว ต่างๆ ได้อย่างน้อย ก็มีรดน้ำพืชผักสวนครัวได้ ที่ใช้น้ำน้อย แล้วเราจะสร้างเพิ่ม อย่างต่อเนื่อง รวม 182 แห่ง ส่วนโครงการใหญ่ที่น่าสนใจ ตามนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างบูรณาการ ก็มีอยู่ 2 โครงการ คือ โครงการแรกคือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นการปรับปรุงแก้ไขแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยจากน้ำส่วนเกิน ล้นเขื่อน พื้นที่ 2 อำเภอ แก้ปัญหาที่ อำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย

นอกจากนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกับเก็บน้ำ สำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุน ในการอุปโภค-บริโภคของประชาชน ใน 3 อำเภอ คือ อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย และ อ.เมือง รวมทั้งปรับปรุงระบบระบายน้ำ ได้แก่ (1) การยกระดับสันเขื่อน (2) การเพิ่มความกว้างทำนบดิน (3) การปรับปรุงฐานรากตัวเขื่อนให้แข็งแรง (4)การปรับปรุงคลองผันน้ำ จากเขื่อนลำพระเพลิง ไปยังอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และ (5) การขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลาย เพื่อให้มีปริมาตรความจุสูงขึ้นเพื่อที่จะเติมกันได้ในระบบอ่างพวงนะครับ คล้ายๆ กัน

เรื่องที่ 2. คือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งเมื่อวันก่อนนี้ก็ได้มีการขออนุมัติให้ดำเนินการ ผมและคณะก็ได้พิจารณษร่วมกันแล้ว ก็เห็นชอบในหลักการ ให้มีการอนุมัติให้ดำเนินการได้ เนื่องจากตื้นเขิน และไม่ได้รับการพัฒนามากว่า 40 ปีแล้ว เพื่อใช้เป็นแหล่งกับเก็บน้ำ และชะลอน้ำหลาก ในช่วงฤดูฝน สำหรับเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ใช้ในการเกษตรกรรม ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชน ในพื้นที่ 6 อำแภอ คือ อ.พระทองคำ อ.เทพารักษ์ อ.ด่านขุนทุด อ.โนนไทย อ.โนนสูง และ อ.เมือง ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการยกระดับการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลำเชียงไกร โดยการสร้างอาคารระบาย จำนวน 56 แห่ง และ โครงการขุดลอกลำเชียงไกร ระยะทาง 122 กิโลเมตร

"ผมได้มอบนโยบายเป็นการเร่งด่วน ให้เกิดผลชัดเจนภายในปี 2560 ก็เป็นการปรับโครงการที่ระยะยาวมาเร่งทำในตอนนี้ก่อน เพื่อจะลดผลกระทบและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันดับแรกให้ทันเวลา โดยให้มีการปรับระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นลง"

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ การกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม จำแนกว่าพื้นที่ไหนควรจะปลูกพืชชนิดใด หรือพื้นที่ใดควรจะแปรรูป พื้นที่ใดจะทำหน้าที่เป็นการตลาด ที่สามารถจะแลกเปลี่ยนกันได้ เชื่อมโยงต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ได้ ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องศึกษาดูด้วยนะครับ เราได้มีการแพร่ไปในเว็ปไซต์ต่างๆแล้ว

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ ทุกคนต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ดิจิตอลจะช่วยทำให้เราหูตากว้างไกลขึ้น เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นเกษตรกรที่ไม่หวังพึ่งแต่ธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ก็ต้องเรียนรู้ รู้เท่าทันกับสภาพภูมิศาสตร์ด้วย นะครับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ