กรมชลฯ ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Monday October 3, 2016 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณฝนในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนลดลง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังลดลง กรมชลประทานยังคงใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกแบ่งรับน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ปัจจุบัน(3 ต.ค.59) เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,644 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากปริมาณน้ำที่ได้มีการระบายสูงสุด 1,998 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.59 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20–30 เซนติเมตร และกรมชลประทาน ยังคงระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลง รวมปริมาณน้ำที่ได้ระบายลงสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.–3 ต.ค.59 ประมาณทั้งสิ้น 187 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน นั้น ยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ทำให้ต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่างฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ กรมชลประทานได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ โดยการใช้เขื่อนพระรามหกเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ โดยบริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก จะแบ่งรับน้ำลงคลองระพีพัฒน์ ในปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีวินาที ซึ่งปัจจุบัน(3 ต.ค.59) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 518 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีวินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ

อนึ่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เริ่มมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน โดยการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกักต่ำสุด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนักลงมาอีก จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำที่จะเคลื่อนลงมาสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่างในโอกาสต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ