นักวิชาการเสนอรัฐบาลและสนช.ควรทบทวนเนื้อหาและถอนร่าง พรบ. โรงงานฉบับใหม่ให้เข้มงวดสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Sunday February 3, 2019 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่ที่กำลังผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาบังคับใช้นั้นอาจทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศหรือปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพและปริมณฑลย่ำแย่ลงอีกเสนอให้ทบทวนเนื้อหากฎหมายเพื่อให้มีการกำกับควบคุมเข้มงวดขึ้นและมีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นกฎหมายโรงงานใหม่มีการผ่อนคลายกฏระเบียบเรื่องการจัดตั้งโรงงาน การไม่ต้องต่อใบอนุญาตหรือมีใบอนุญาตแบบไม่มีวันหมดอายุหรือแบบตลอดชีพมีการแก้ไขคำนิยามโรงงานใหม่ ใช้ผู้ตรวจสอบเอกชนตรวจสอบคุณภาพโรงงานได้กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นผลบวกต่อภาคการลงทุนและผลดีต่อภาคการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมแต่อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะปลดล็อคโรงงานขนาดเล็ก 60,000 แห่ง ไม่ต้องขอใบอนุญาตและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแลกันเองเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตามมาตรฐานและการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอาจหละหลวมหากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมมลพิษทางอากาศ ฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาระบบนิเวศน่าจะรุนแรงขึ้นปัญหาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอาจเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการมีชีวิตและใช้ชีวิตสูงขึ้น ผลดีต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจจะถูกหักล้างไป เป็นการเติบโตแบบไม่ยั่งยืนและสร้างปัญหา ผู้มีรายได้น้อยคนยากจนที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุดโรงงานขนาดเล็กอาจมีการปล่อยน้ำเสีย ควันพิษ กากอุตสาหกรรมมีมลพิษทางเสียงมากขึ้นเพราะอาจขาดการกำกับควบคุมจากการผ่อนคลายกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงาน

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจด้วยให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นประชาธิปไตยและเกิดการมีส่วนร่วมโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายต่างๆของรัฐต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศผ่านการใช้มาตรา 44 ปิดช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช มีการออกมาตรา 44 และคำสั่งต่างๆเอื้อต่อการลงทุนของเอกชนโดยละเลยต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน เช่น การยกเว้นผังเมืองใน EECยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย เป็นต้น พรบ โรงงานฉบับใหม่เองก็ผ่อนคลายมาตรฐานตรวจสอบทางด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อมีการขยายโรงงานหรือเพิ่มกิจการการผลิตในโรงงาน รัฐบาลและสนช. จึงควรทบทวนเนื้อหาและถอนร่าง พรบ. โรงงานฉบับใหม่เพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดเตรียมกฎหมายแบบมีส่วนร่วม ภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ การปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบเพิ่มเติม ดังนี้

1. กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมลดระดับมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียงและมลพิษต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมายคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป 2.สร้างระบบและกลไกในการควบคุมพฤติกรรมในการก่อให้เกิดมลภาวะโดยใช้มาตรการบังคับ และ มาตรสร้างระบบแรงจูงใจ 3.ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก (PM2.5 ที่ 25 PM10 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพื่อไม่ให้ "คนไทย"อยู่ในสภาพตายผ่อนส่งจากมาตรฐานแบบไทยๆ (PM2.5 ที่ 50 PM10 ที่ 120 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพราะระดับมาตรฐานไทยยังมีอันตรายต่อสุขภาพ สร้างระบบและกลไกในการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและลดระดับมลภาวะ

4.สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษและปัญหามลภาวะต่างๆได้ทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงวิธีป้องกันตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยเกิดจิตสำนึกในการร่วมกันในการลดมลภาวะต่างๆ แนวทางนี้จะทำให้การจัดการผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนต่ำสุด 5. การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7.การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน และการเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ

8.การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 9.การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ 10.จำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่งเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและภาษีสุขภาพสำหรับรถยนต์ใหม่เก็บภาษีแบบขั้นบันไดตามอายุการใช้งาน

11.เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนให้สามารถเชื่อมโยงมากขึ้นและสามารถเข้าถึงได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงด้วยราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 12.มีมาตรการป้องกันการก่อมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรกรรม และมลพิษที่ถูกปล่อยมาจากภาคอุตสาหกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้ อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ