"ประวิตร"กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาน้ำครบวงจรให้เป็นรูปธรรมภายในปี 63

ข่าวทั่วไป Thursday September 12, 2019 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เร่งรัดการดำเนินการตามกรอบแผนงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดยต้องพยายามขับเคลื่อนดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการ น้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการทลายของดิน รวมทั้งการบริหารจัดการ และย้ำว่ารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณกระจายแก้ปัญหาน้ำลงทุกพื้นที่และจะติดตามขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด โดยต้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกับประชาชนในพื้นที่ปี 63

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในปี 62 หลังรัฐบาลอนุมัติงบกลางกว่า 19,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำจำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัดแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

และรับทราบรายงานความก้าวหน้าของโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน การขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับพัฒนาแหล่งน้ำ 85 โครงการ ตลอดจนเห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย และโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง

พร้อมทั้งพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปี 63 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน 57,975 โครงการ วงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศ และเห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) ที่มี สทนช.รับผิดชอบ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำพระราโชบาย รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด มาดำเนินงาน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) เป็นหลัก เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกันบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปพร้อมกัน

โดยต้องเก็บสถิติและพยายามบริหารจัดการลดความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งการบริหารจัดการลุ่มน้ำหลัก ควบคู่กับเร่งจัดทำแหล่งเก็บน้ำอุปโภคบริโภคผิวดินในแต่ละชุมชน โดยเร่งจัดทำแก้มลิง ฝายชะลอน้ำในลำน้ำต่างๆ และการผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้มากที่สุดในทุกโอกาส โดยต้องหยุดปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซากให้ได้โดยด่วน พร้อมกันนี้ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์น้ำและมีส่วนร่วมบริหารจัดการไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีประชาชนได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ