COVID-19"สุวิทย์" ชู"บีซีจี โมเดล"ขับเคลื่อนประเทศหลังโควิดส่งผลโลกเปลี่ยนใน 7 กระบวนทัศน์

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2020 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า มีแนวคิดในการเสนอวาระขับเคลื่อนประเทศ เตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด ผ่านการชู "บีซีจี โมเดล" เป็นคานงัดสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ประเทศว่ายังควรใช้แผนเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ บริบทโลกในปัจจุบันการดิสรัปชั่นไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีการดิสรัปชั่นเรื่องความเสี่ยงและภัยคุกคาม ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อมิติเศรษฐกิจ ตลอดจนมิติทางสังคมของประเทศด้วย โดยจะนำ"7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก" มาจัดทำเป็นพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ประเทศ และนำสู่วาระขับเคลื่อนการปฏิรูปที่มุ่งผลลัพธ์การขับเคลื่อนที่สมดุล ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขของสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการเติบโตอย่างยั่งยืน การแบ่งปันความมั่นคง และการมีสันติภาพที่ถาวร

"โควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งของมนุษยชาติ อันที่จริงแล้ว "7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก" ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกขยับล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนหลักคิด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัญหาคือพวกเราเพียงแค่ตระหนักรู้ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ในโลกหลังโควิด มนุษย์จะอยู่รอดได้ เราต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในโลกก่อนโควิด เรามองตัวเองเป็นเพียงพลเมืองของประเทศมุ่งเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ให้กับประเทศ แต่ ณ วันนี้ ในโลกหลังโควิด เราต้องร่วมกันฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้น เราต้องเป็นทั้งพลเมืองของประเทศและเป็นพลเมืองของโลกในเวลาเดียวกัน"

นายสุวิทย์ ระบุว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งการปรับเปลี่ยน ก่อให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนโลก 7 ประการ คือ ขยับที่ 1 จาก โมเดลตลาดเสรี สู่ โมเดลตลาดร่วมสร้างสรรค์ ขยับที่ 2 จากการผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการแข่งขันให้กับตน สู่การผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ ขยับที่ 3 จากการมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่ การมุ่งเน้นที่ขับเคลื่อนที่สมดุล ขยับที่ 4 จากชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ สู่ ชีวิตที่รุ่มรวยความสุข ขยับที่ 5 จากเศรษฐกิจเส้นตรง สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ขยับที่ 6 จากระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ ขยับที่ 7 จากการตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม สู่การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวอช.) กล่าวว่า การแก้วิกฤตการณ์ต่างๆ รวมถึงโควิด-19 จะแก้โดยใช้เพียงเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ด้วยการปลูกฝังจากภายในจากจิตวิญญาณ โดยอาศัยนโยบายเชิงสังคมที่ต้องลงไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมอย่างครอบครัว ที่จะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทีหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะนำไปพัฒนาบทความ "โลกเปลี่ยน คนปรับ ความพอเพียงในโลกหลังโควิด" ให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และ สอวช.จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพัฒนานโยบายและแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ