(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.ชุดใหญ่เคาะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน-ผ่อนคลายเฟส 5

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2020 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ โดยยืนยันความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาการยังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการในระยะ 5 ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด อยากให้ย้อนดูว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในประเทศไม่มากนัก เป็นเพราะมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ระยะแรกในช่วงปลายเดือน ม.ค.63 เป็นต้นมา มีการใช้มาตรการพิเศษ และประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีอย่างเช่นปัจจุบัน นี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากมีกฎหมายกว่า 40 ฉบับที่หลายหน่วยงานถืออยู่ไม่สามารถเปิดหรือปิดหลายกิจกรรมได้โดยทันที รวมถึงการเข้าออกประเทศ เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันเวลาในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปิดกั้นใครทั้งสิ้น เพราะทุกคนคือลูกหลาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นห่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในในต่างประเทศ และส่วนหนึ่งมาจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในจำนวนมาก และประเทศเหล่านั้นมีการติดเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องนำมาประกอบการพิจารณา

สำหรับการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมระยะที่ 5 เช่น สถานประกอบการต่างๆ การเข้าออกประเทศของนักธุรกิจ จะต้องมีการทำงานเชิงรุกต่อไปเพื่อรองรับสถานการณ์ในวันข้างหน้า เกี่ยวกับมาตรการด้านการท่องเที่ยว การค้าขาย และการประกอบกิจการต่างๆ ซึ่งเป็นห่วงการดำเนินธุรกิจของโรงแรม

ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องผ่อนคลายในระยะที่ 5 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะเห็นใจผู้มีรายได้น้อย ผู้ไม่มีงานทำ และผู้ที่มีครอบครัว มีภาระต้องใช้จ่าย ขณะที่ด้านสาธารณสุขมีมาตรการความพร้อมที่จะรองรับมาตรการผ่อนคลาย แต่ไม่ขอรับรองว่าจะปลอดภัย 100% หรือไม่ ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนที่จะร่วมมือกัน จึงจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมมาถึงระยะที่ 4 แล้วเพื่อแก้ไขบรรเทา ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.63 สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์รายมาเกิน 30 วันแล้ว ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและอาเซียน แต่ยังคงต้องเตรียมพร้อมตั้งรับในกรณีที่อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเรียน และจะมีการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมอีกหลายประเภท จึงขอให้ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคงมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันดูแล

แม้สถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้นผ่านมาตรการควบคุมดูแลของรัฐบาล แต่ขอให้ทุกส่วนสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า ทั่วโลกยังมีปัญหาตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขอให้ประชาชนเข้าใจเจตนาของรัฐบาลที่ไม่ได้มีข้ออ้างในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อวัตถุประสงค์อื่น มีเพียงความจำเป็นเพื่อการป้องกันควบคุมโรค ไม่ให้มีการแพร่ระบาดกลับเข้ามาใหม่ และขอให้กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ศปม. ร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไป

สำหรับการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการณ์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการบริหารราชการแบบ New Normal เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่โอกาสหลังจากวิกฤติการณ์ 2019 โดยได้เชิญกลุ่มต่างๆ มาให้ข้อมูล รับฟังปัญหาความเดือดร้อน และนำความเห็นข้อเสนอแนะของเขามาพิจารณาประกอบการกำหนดมาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ กิจการใดที่ยังมีความเสี่ยงยังไม่สามารถผ่อนปรนได้ก็ต้องหาทางช่วยเหลือเยียวยา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในความจำเป็นเกี่ยวกับการออกมาตรการของรัฐบาล รวมถึงพยายามสื่อสารชี้แจงให้สื่อมวลชน เข้าใจวิธีคิด วิธีบริหารสถานการณ์ของ ศบค. เหตุผล ความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.ก.เป็นเครื่องมือในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศต่างรอคอยความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งถือเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไทยได้บริจาคเงินหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนกองทุนดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยขอให้บูรณาการการทำงาน ความร่วมมือ และระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนของประเทศไทย ในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอย่างจริงจัง หากร่วมมือร่วมใจกันอาจจะส่งผลให้การวิจัย และพัฒนาของไทยประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น

ในส่วนของมาตรการ Work From Home ที่เริ่มผ่อนคลายลง ขอให้พิจารณาใช้มาตรการเหลื่อมเวลาให้เกิดประโยชน์ ควบคู่ไปกับดูแลเรื่องการเดินทางของประชาชนไม่ให้เกิดความแออัดในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และเพื่อยังคงประสิทธิภาพในการดำเนินสถานการณ์ในประเทศเช่นที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเข้า-ออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดลำดับ แผนงาน และการกลั่นกรอง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมการรองรับตั้งแต่ต้นทาง จนถึงการเข้า State Quarantine ที่เข้มงวด

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการเกี่ยวกับการนำเครื่องมือควบคุมอย่างจริงจังมาใช้ประโยชน์ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการใช้แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" อย่างจริงจัง เข้มงวด ปลุกจิตสำนึกให้เป็นหน้าที่ ส่วนกรณีที่ประชาชนยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป พร้อมย้ำว่าข้อมูลประชาชนต้องเป็นความลับ และขอให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดในการดำเนินมาตรการ รวมทั้งให้กำหนดมาตรการลงโทษหากเจ้าของกิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด

นอกจากนี้ ต้องเตรียมเทคโนโลยี และแอพพลิเคชันติดตามตัวบุคคลในกรณีที่จะมีการพิจารณาเปิดการเดินทางเข้าออกประเทศ เพื่อธุรกิจ หรือการท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าเพื่อการควบคุมป้องกันในอนาคต การดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งพิจารณากลั่นกรองแผนงาน หรือโครงการในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยให้คำนึงถึงการนำไปสู่เป้าหมายและทิศทางของประเทศไทยภายหลังวิกฤติโควิด เพื่อใช้งบประมาณนี้เสริมโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายหลังวิกฤติ เช่น การเป็น medical hub, การเป็นแหล่งอาหารของโลก การท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

โดยคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รายงานว่าภายหลังประเมินสถานการณ์แล้วเห็นควรเร่งรัดการผ่อนปรนให้นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และช่างเทคนิคสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจ และทำงานในประเทศไทยได้เป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อ

นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางต่อการดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ปกติ เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่กิจการ/กิจกรรมในระยะนี้มีความเสี่ยงสูง จึงขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอธิบายสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่ามีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ เป็นการดูแลประชาชน และควบคุมโรค

ในส่วนของการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจากเหตุผล ความจำเป็น ความเร่งด่วน และในส่วนของมาตรการผ่อนคลายเพื่อการท่องเที่ยวจะต้องพิจารณากันต่อไป ประกอบกับสั่งการให้ทุกฝ่ายร่วมกันเตรียมความพร้อมทุกระยะ ทั้งระบบการจัดการ มีจำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุม

สำหรับมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอย่างเข้มงวด และตรวจตราอย่างละเอียด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาผ่อนคลายการใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ผ่อนคลายบุคคลให้ผู้มีใบอนุญาตเดินทางเข้าราชอาณาจักรก่อนได้ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศดูแล คัดกรอง และกำหนดมาตรการ ดังนี้

1.การขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย

2.การจัดทำความตกลงพิเศษ (Special Arrangement Arrangement)

3.แนวทางเร่งการดำเนินการให้นักธุรกิจต่างชาติภายใต้ข้อ 3(5) ของข้อกำหนดฯ

4.หลักเกณฑ์ในการรับรองการเดินทางของแขกของรัฐบาล รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มธุรกิจด้านการส่งออก SME และธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ