สนช.รับพิจารณากม. 3 ฉบับของ ก.พาณิชย์ คาดบังคับใช้ทันในรัฐบาลชุดนี้

ข่าวทั่วไป Thursday November 22, 2007 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ร่างพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ และ ร่างพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด คาดว่าจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้แน่นอน เพราะเป็นประโยชน์ต่อระบบธุรกิจของประเทศ
"การแก้ไขกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เพื่อลดภาระและขั้นตอน ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชน มีความคล่องตัวขึ้น" นายเกริกไกรกล่าว
ประเด็นสำคัญที่แก้ไขในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจาก 7 คนเหลือ 3 คน,แก้ไขให้การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งเดิมต้องใช้เวลาถึง 9 วันเหลือ 1 วัน, ยกเลิกการให้บริษัทส่งหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ให้นายทะเบียน, ปรับปรุงวิธีการลงมติพิเศษของบริษัท ซึ่งต้องประชุม 2 ครั้งและใช้เวลา 1 เดือน เหลือประชุม 1 ครั้ง และใช้เวลาเพียง 15 วัน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้โดยไม่ต้องเลิกห้าง และไปจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ ลดระยะเวลาลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการนัดประชุมผู้ถือหุ้น เลิกห้างหุ้นส่วนบริษัท ลดทุน และควบบริษัท จากเดิมกำหนดไว้ 2 ครั้ง และ 7 ครั้งตามลำดับ เหลือเพียง 1 ครั้ง รวมทั้งลดเวลาที่เจ้าหนี้จะคัดค้านการลดทุน และควบบริษัทจากเดิมกำหนดไว้ 3 เดือน และ 6 เดือน เหลือ 30 วัน และ 60 วันตามลำดับ
ส่วนกฎหมายกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ ได้เพิ่มความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด เพิ่มความผิดและบทลงโทษกรณีที่ใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วประกอบธุรกิจต่อไป และให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้ใช้อำนาจเปรียบเทียบปรับในความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีโทษปรับสถานเดียว
สำหรับกฎหมายมหาชนจำกัด ได้ยกเลิกการประกาศราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ยกเลิกการออกใบสำคัญการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งซ้ำซ้อนกับการออกหนังสือรับรองและให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้ใช้อำนาจเปรียบเทียบปรับในความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีโทษปรับสถานเดียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ