หอการค้าฯ จัดเสวนาพลิกวิกฤตโควิดด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 20, 2021 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาโครงการ 99 บทเรียน : พลิกวิกฤตโควิดด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่า การเกิดวิกฤตถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิต และต้องยอมรับว่าทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนกันทั้งนั้น หากเราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ก็จะช่วยให้มีสติในการแก้ไขปัญหาและก้าวต่อไปได้

"การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับธุรกิจของตนเองเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด ไม่ได้มุ่งหวังให้รวยที่สุด แต่ให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ สามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส แม้จะเหนื่อยกว่าเดิม แต่ต้องไม่หมกดกำลังใจ" นางกอบกาญจน์ กล่าว

นางกอบกาญจน์ มั่นใจว่า ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาจะมีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป หลังจากฟังการแชร์ประสบการณ์แล้ว โดยต้องมองหาสิ่งดีที่ตัวเองมีอยู่จะทำให้อยู่รอดได้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องเรียนรู้ตัวเองว่ามีความสามารถอะไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่ามีมากกว่าสิ่งที่เคยทำอยู่ และการทำธุรกิจต้องมีพันธมิตรเพื่อเติมเต็มสิ่งที่เราขาดหายไป

นายนครินทร์ ยาโน เจ้าของธุรกิจแปรรูปสิ่งทอ YANO Handicraft กล่าวว่า ตนมีประสบการณ์ทำงานมา 16 ปี โดยเริ่มต้นจากสินค้าโอทอป วิสาหกิจชุมชน โดยก่อนเกิดวิกฤตโควิดในปี 63 ได้ระบายสต๊อกสินค้าทั้งหมดเพื่อระดมเงินทุนเก็บไว้ และได้รับผลกระทบ 100% เพราะสินค้าหลักเป็นของที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยว หลังจากนั้นในเดือน เม.ย.63 ได้ปรับรูปแบบสินค้ามาผลิตหน้ากากอนามัย และเดือน ธ.ค.63 ได้พันธมิตรที่ทำตลาดออนไลน์ในจีน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าใน 5 ชุมชน และเรือนจำ 5 แห่ง

"เมื่อเรามีปัญหา ก็ต้องมีสติตั้งรับ และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งปัจจุบัน สามารถทำสินค้าส่งให้ไปขายผ่านช่องทางออนไลน์ในจีน...หลังวิกฤตโควิด เชื่อว่าทุกคนจะมีงานทำมากขึ้น หากสามารถประเมินศักยภาพของตัวเองได้...ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเหมือนวัคซีนที่ทำให้คนไทยอยู่รอด" นายนครินทร์ กล่าว

น.ส.ศรุตา เกียรติภาคภูมิ เจ้าของธุรกิจ PIN Metal Art กล่าวว่า เรียนจบด้านศิลปะ ขณะที่ทางครองครัวมีกิจการเกี่ยวกับการรับผลิตล้อเลื่อนบานสวิง ทำให้ตนต้องเปลี่ยนมุมมองจากความเป็นจริงในชีวิต ด้วยการนำเศษเหล็กมาทำเป็นงานศิลปะ เช่น โคมไฟ บานกระจก สำหรับตกแต่งโรงแรม และรีสอร์ท แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด ก็ผลิตงานศิลปะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น กระถางต้นไม้ ตนเชื่อว่าทุกคนต้องมีทัศนคติที่ดี และไม่หมดกำลังใจ โดยสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน

"อย่าไปคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นใช้ได้เฉพาะเรื่องการเกษตร เพราะทีแรกยังเคยคิดที่จะเลิกกิจการ แล้วไปหาซื้อที่ดินทำการเกษตร แต่เมื่อมาพิจารณาถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็น และสิ่งที่ต้องทำแล้ว จึงเริ่มพัฒนาต่อยอดธุรกิจของที่บ้าน ทุกวันนี้ต้องแย่งช่างเชื่อมมาพัฒนาฝีมือทำงานด้านศิลปะ" น.ส.ศรุตา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ