สธ. เผยพบโอมิครอน BA.4-BA.5 มากขึ้น แพร่เร็ว-อาการรุนแรงกว่า BA.1-BA.2

ข่าวทั่วไป Monday July 25, 2022 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากระบบการเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 65 พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย มีสัดส่วนมากเกินครึ่งของสายพันธุ์ย่อยเก่า โดยจากการสุ่มตรวจทั้งหมด 468 ตัวอย่าง พบ BA.4 และ BA.5 จำนวน 320 ราย คิดเป็น 68.4% โดยส่วนมากพบในกรุงเทพฯ, ส่วน BA.2 พบ 143 ราย คิดเป็น 30.6% และ BA.1 พบ 5 ราย คิดเป็น 1.1%

ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจหาสัดส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ด้วยวิธี Whole Genome Sequencing ตั้งแต่เดือนพ.ค. 65 พบ BA.4 จำนวน 87 ราย และ BA.5 จำนวน 270 ราย สรุปคือในประเทศพบการแพร่ระบาดของ BA.5 ในสัดส่วนที่มากกว่า BA.4 คิดเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จากข้อมูลระหว่างวันที่ 2-22 ก.ค. 65 ในพื้นที่กทม. พบว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศที่อาการไม่รุนแรง จากกลุ่มตัวอย่าง 475 ราย พบ 76% มาจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 และ 24% มาจากสายพันธุ์ BA.2 ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง (ปอดบวม ใส่ท่อช่วยหายใจ) และหรือเสียชีวิตจำนวน 101 ราย 78.22% มาจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 % ส่วนอีก 21.78% มาจากสายพันธุ์ BA.2

ส่วนในพื้นที่ภูมิภาค กลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศที่อาการไม่รุนแรง จากกลุ่มตัวอย่าง 774 ราย พบ 56.46% มาจากสายพันธุ์ BA.2, 41.99% มาจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 และ 1.55% มาจากสายพันธุ์ BA.1 ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง (ปอดบวม ใส่ท่อช่วยหายใจ) และหรือเสียชีวิตจำนวน 137 ราย 59.12% มาจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 % และอีก 40.88% มาจากสายพันธุ์ BA.2

"แนวโน้มหลังจากนี้ จะพบ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.1 และ BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่จากข้อมูลผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง และหรือเสียชีวิต ก็พออนุมานได้ว่า BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงของโรคมากกว่า BA.2" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนย่อย BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอดและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 7 ก.ค. 65 จัด BA.2.75 ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องจับตา (variant-of-concern lineage under monitoring) โดย BA.2.75 เริ่มพบการระบาดในประเทศอินเดียเมื่อต้นเดือนมิ.ย. 65 และพบการแพร่กระจายที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดในด้านความรุนแรงในการก่อโรค ส่วนข้อมูลจากฐานข้อมูลสากล GISAID พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 รายงานจากทั่วโลก จำนวน 538 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 65)

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 9 ก.ค. 65 กรมฯ ตรวจยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 จำนวน 1 ราย เป็นชายไทย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในประเทศไทยน่าจะพบ BA.2.75 มากกว่า 1 ราย แต่เนื่องจากการตรวจเบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสายพันธุ์นี้ ต้องใช้การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวซึ่งต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ หากมีการตรวจแล้วไม่เข้ากับสายพันธุ์ BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 ก็จะส่งตรวจมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวต่อไป แต่ไม่เกินสัปดาห์หน้า จะมีการผลิตไพรเมอร์ที่เฉพาะต่อสายพันธุ์ BA.2.75 เพื่อให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ในจังหวัดต่างๆ สามารถตรวจในพื้นที่ได้เลย โดยไม่ต้องรอการถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อความรวดเร็ว

"ส่วนเรื่องที่นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย เข้ามาประเทศไทยมากในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเรายังไม่รู้เรื่องความรุนแรง หรือการแพร่เร็วของ BA.2.75 ซึ่งการแพร่เร็วมีข้อมูลในประเทศอินเดีย แต่ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลว่าจะแซงหน้าสายพันธุ์อื่น แต่ก็ต้องมีการติดตามกันต่อไป" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ ได้ติดตามภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ต่อไวรัสจริงสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 เทียบกับ BA.2 โดยใช้วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) หรือการนำเชื้อไวรัสเป็นๆ มาสู้กับเลือดในหลอดทดลอง พบว่า คนที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ จะพบมีภูมิคุ้มกันต่อ BA.4 หรือ BA.5 ลดลง ส่วนคนที่ติดเชื้อไวรัส BA.1 หรือ BA.2 จะพบภูมิคุ้มกันต่อ BA.4 หรือ BA.5 ลดลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีก

"ผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอน BA.5 ลดลง แต่ยังป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มนานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับเข็ม 4 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอน BA.5 ลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค ดังนั้น มาตรการดูแลตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยังจำเป็นต่อการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด" นพ.ศุภกิจ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ