กรมเชื้อเพลิง เผยผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม 12 รายวางหลักประกันการรื้อถอนตามกม.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 26, 2022 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม รวมทั้งทำให้รัฐมีความมั่นใจว่าผู้รับสัมปทานจะไม่ละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งภายหลังสิ้นสุดการใช้งาน

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้รับสัมปทานในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559

ที่ผ่านมามีผู้รับสัมปทาน จำนวน 12 ราย สำหรับแปลงสำรวจ จำนวน 8 แปลง ที่ได้ดำเนินการในการยื่นแผนงานการรื้อถอน และวางหลักประกันการรื้อถอนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างถูกต้อง ประกอบด้วย

1. ซิโน-ยู.เอส. ปิโตรเลียม อิงค์

2. Central Place Company Ltd.

3. Thai Offshore Petroleum Ltd.

4. Sino Thai Energy Ltd.

5. เอ็กซอน โมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์

6. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด

7. บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่ลแนล จำกัด

8. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

9. เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด

10. เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด

11. บริษัท บุษราคัม มโนรา จำกัด

12. บริษัท Tap Energy (Thailand) Pty Ltd. ทั้งนี้ การวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศว่าผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะสามารถดำเนินการรื้อถอน ฟื้นฟู ปรับปรุงสภาพพื้นที่ และจัดการสิ่งติดตั้งในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่เลิกใช้งานแล้วอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่เหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ยังเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักแนวคิด ESG ที่มีบทบาทมากในปัจจุบันที่ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ ด้านสังคม (Social : S) คือ การบริหารประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น พนักงาน ลูกค้า และชุมชน อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และด้านธรรมาภิบาล (Governance : G) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในส่วนของบริษัทผู้รับสัมปทานโดยตรง และประเทศให้มีความมั่งคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ