(เพิ่มเติม1) ไทยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายที่ 3 เป็นชาวเยอรมันเดินทางมาภูเก็ต

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2022 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นรายที่ 3 ผู้ป่วยเป็นเพศชายชาวเยอรมัน เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลตรวจยืนยันจากห้องปฎิบัติการออกมาในช่วงเย็นวานนี้ (2 ส.ค.) โดยทีมสอบสวนโรค รายงานว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยหาแฟน และใช้ชีวิตท่องเที่ยวกับแฟน ไม่ได้เที่ยวในสถานบันเทิง

"ประวัติที่ผู้ป่วยรายนี้ให้มา บอกว่าตอนที่อยู่ประเทศเขาก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับใคร ไม่เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไปสถานที่เสี่ยง แต่เบื้องต้นคาดว่าฟักเชื้อมาจากต่างประเทศ เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวนานถึง 21 วัน ซึ่งผู้ป่วยเริ่มมีอาการประมาณวันที่ 23-24 ก.ค. ส่วนสายพันธุ์ของโรคฝีดาษลิงอยู่ระหว่างส่งไปคัดแยกสายพันธุ์ที่ส่วนกลาง คาดทราบผลใน 1-2 วัน" นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบกลุ่มสัมผัสใกล้ชิด คือ แฟนของผู้ป่วย และครอบครัวของแฟนผู้ป่วย รวมแล้วประมาณ 7 ราย โดยขณะนี้ได้มีการกักตัว และเจาะเลือดของแฟนของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อแล้ว คาดว่าจะรู้ผลภายในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค. 65) ส่วนคนอื่นๆ อยู่ระหว่างกักตัวที่บ้าน 21 วัน อย่างไรก็ดี จะมีการสอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติม และจะเข้าไปทำความสะอาดบ้านพัก (อ.เมือง จ.ภูเก็ต) รวมทั้งทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ชุมชนด้วย

"ถ้าประชาชนมีอาการไข้ ผื่นขึ้นแบบตุ่มหนองคล้ายอีสุกอีใส มีความเสี่ยงเป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้ป่วยให้รีบมาพบแพทย์ อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองใน 2-4 อาทิตย์" นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศผู้ป่วยรายแรก ขณะนี้พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษลิงแล้วประมาณ 7-8 ราย แต่ผลตรวจของทั้งหมดไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ดี ขอสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ว่า จ.ภูเก็ต มีระบบการคัดกรอง ดักจับ ทั้งที่สนามบิน และสถานบริการรักษาทุกแห่ง และหากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ยาก เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 เข้ามายัง จ.ภูเก็ต เพื่อท่องเที่ยว หลังจากนั้นไม่นานมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ลำตัวและแขนขา จึงมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เบื้องต้นคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อนำเข้า คือ ติดเชื้อตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศแต่เพิ่งมาแสดงอาการ ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่อยู่ระหว่างตรวจสอบไทม์ไลน์เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงต่อไป นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่ท่าอากาศยาน แต่โรคนี้มีระยะฟักตัวได้นาน ถึง 3 สัปดาห์ทำให้ช่วงเข้ามาในประเทศไทยยังไม่มีอาการ ดังนั้น หากเข้ามาแล้วมีอาการเข้าได้กับโรคขอให้รีบมาพบแพทย์

ส่วนวัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การเภสัชกรรมได้ประสานติดต่อเพื่อนำเข้ามาภายในเดือนส.ค. นี้ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมหารือกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม Pre Exposure หรือก่อนการสัมผัสเชื้อ จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2. กลุ่ม Post Exposure หรือผู้สัมผัสผู้ป่วยไม่เกิน 14 วันหลังสัมผัสเชื้อครั้งสุดท้าย เชื่อว่าจะป้องกันได้ โดยคณะทำงานจะพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

"โรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ เช่น ผู้ป่วย 2 รายก่อนหน้านี้ก็อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย ยกเว้นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจจำเป็นสำหรับการรักษา ปัจจุบันทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 9% เพื่อการควบคุมโรค และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งพบว่ามีโรคร่วมทำให้อาการรุนแรง เช่น มีภาวะสมองอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง" นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติวินิจฉัย การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษลิง ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 65 โดยเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 และได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะและประกาศแนวทางอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเบื้องต้นถ้ามีผู้ป่วยสงสัยให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและควบคุมโรค ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าสามารถตรวจและรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง และย้ำว่าโรคนี้หายเองได้ ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสทุกราย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ