มท.1 แจงแนวทางรับมือน้ำท่วม ยึดกรอบ 13 มาตรการ ยันเขื่อนยังรองรับปริมาณน้ำได้

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2022 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวตอบกระทู้คำถามด้วยวาจาของ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว. เกี่ยวกับแนวทางและมาตรการในการจัดการอุทกภัยของประเทศไทยว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพฝนในปีนี้จะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งปกติปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี แต่ปีนี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติประมาณ 26% โดยปกติแล้วประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อน (Tropical Storm) ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ

แต่ที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกตอนบน ภาคกลางตอนบน ร่วมกับอิทธิพลของมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีคลื่นลมฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยด้วย สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด ยังมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้

สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการของรัฐบาล ได้มีการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 2565 รวมถึงได้มีการวางแผนการรับมือน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยนำปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นกรอบแนวทางกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ ทั้งก่อนช่วงฤดูฝน ช่วงระหว่างฤดูฝน และช่วงสิ้นสุดฤดูฝน

พร้อมกันนี้ มีแผนปฏิบัติการย่อย อาทิ การเตรียมการรับมืออุทกภัย การบริหารจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูก การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมไว้รองรับกรณีเกิดสถานการณ์ ซึ่งมาตรการทั้ง 13 มาตรการจะเป็นกรอบใหญ่ของการบริหารจัดการ ทั้งการคาดการณ์พื้นที่เป้าหมายเสี่ยง การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ การซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะเป็นกรอบปฏิบัติการที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปดำเนินการตามงบประมาณและตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำของประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก มีปริมาณความเข้มข้นสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำไหลหลากรุนแรง และหากตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่ลุ่ม หากระบายลงสู่คลองหรือทะเลไม่ทัน ก็จะมีน้ำท่วมขัง

2) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากการระบายน้ำทั้งหมดหรือน้ำท่า (Side Flow) โดยหากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 สถานการณ์ก็จะเกิดน้ำท่วมขังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้ ซึ่งในเดือนกันยายน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว 31 จังหวัด โดยในขณะนี้เหลือพื้นที่เกิดสถานการณ์อยู่ 13 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู ภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง และจันทบุรี โดยในภาพรวมขณะนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของประเทศไทยยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ ซึ่งการปล่อยน้ำจากเขื่อนจะเป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ในแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดสภาพน้ำล้นอ่าง และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมถึงให้พื้นที่ใต้เขื่อนสามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคได้

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกแบบผังเมืองด้วยระบบโพลเดอร์ หรือ "Polder System" คือ การป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ และรับผิดชอบการระบายน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น สำหรับการระบายน้ำที่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถรับความจุลำน้ำได้ไม่เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้ที่จุดควบคุมสถานีวัดน้ำบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำยังไม่เกินความจุลำน้ำ ดังนั้น ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้

อย่างไรก็ตาม จะเร่งระบายน้ำเพื่อให้เตรียมรับน้ำได้ ถ้าหากเกิดสถานการณ์น้ำในอนาคต และเขื่อนต่าง ๆ ก็ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อยู่ และสำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดปทุมธานี ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากทั้งสถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก และสถานการณ์น้ำที่เกิดจากการระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีไม่สามารถระบายได้ทัน ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกรมชลประทานเร่งแก้ไข และไม่ให้ระบายน้ำผ่านคลองรังสิต เพื่อให้ฝนที่ตกในพื้นที่รังสิตสามารถไหลลงคลองรังสิตได้

"สถานการณ์โดยรวมในขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเข้ามาโดยตรง แต่คาดว่ามีโอกาสที่จะพบได้ประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่เหนือเขื่อน ยังมีพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ แต่ถ้าตกในพื้นที่ระหว่างเขื่อน ก็จะเร่งรัดการระบายน้ำทำให้รองรับสถานการณ์ได้ แต่ถ้าตกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหนักมาก ก็จะต้องแก้ปัญหาด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือน การพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน การประมาณการพื้นที่กักเก็บน้ำ และแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ก็จะมีการเตรียมมาตรการป้องกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีการจะปฏิบัติการตามแผนและมีงบประมาณจากรัฐบาลที่จะใช้ในการป้องกัน แจ้งเตือน ไปจนถึงการเตรียมการพื้นที่อพยพพักพิงให้กับประชาชน โดยจะบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงฝ่ายความมั่นคง เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชนซึ่งมีความเข้มแข็งมากพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ได้" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ