กอนช. เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง 1-7 ต.ค. นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2022 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กอนช. เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง 1-7 ต.ค. นี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์จะมีฝนตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลของพายุ "โนรู" ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค. 65 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้มีน้ำไหลหลากผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเกิดฝนตกในลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน เกิดน้ำหลากไหลลงคลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,500-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,300-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. 65

ทั้งนี้ จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30-0.60 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรีและพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมกและไชโย จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคัน บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้

4. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ