กอนช. ปัดน้ำเหนือจ่อทะลักเข้ากทม.-ปริมณฑล แจงภาพจากดาวเทียมแค่น้ำค้างทุ่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 11, 2022 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กอนช. ปัดน้ำเหนือจ่อทะลักเข้ากทม.-ปริมณฑล แจงภาพจากดาวเทียมแค่น้ำค้างทุ่ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งมวลน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ว่ามวลน้ำจะไหลลงสู่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลนั้นไม่เป็นความจริง

แต่เป็นมวลน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ จะค้างทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว และมวลน้ำที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มเป็นส่วนใหญ่ จะไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำหลากลงมาท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่จะทยอยไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำดังกล่าวลดระดับต่ำกว่าน้ำในทุ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.จะสูบน้ำส่วนนี้ออกให้เหลือไว้เฉพาะเพื่อใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไป ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับกระทบจากมวลน้ำดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันคิดเป็น 79% ของปริมาณการกักเก็บ โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นั้น ขณะนี้ได้หยุดการระบายและน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจะกักเก็บไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น กอนช.ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที ออกทางฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตก ผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน ล่าสุดมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 65 อยู่ที่ 3,159 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกันน้ำ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ กอนช. กำลังพิจารณาที่จะลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาเริ่มมีปริมาณที่ลดลง อย่างไรก็ตามเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น กอนช. ได้ตัดยอดน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บน้ำในทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 96% ของปริมาณการเก็บกัก หรือประมาณ 1,248 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 52 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนลุ่มน้ำป่าสักขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ที่ 850 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีปริมาณน้ำ 1,085 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 113% ของปริมาณการเก็บกัก ขณะที่การระบายออกอยู่ในอัตรา 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่ง กอนช. กำลังพิจารณาลดการระบายออกเช่นกัน ดังนั้น แนวโน้มปริมาณน้ำที่จะไหลลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ก็จะมีแนวโน้มลดลงด้วย ซึ่งปัจจุบันน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทรขณะนี้อยู่ที่ 3,094 ลบ.ม./วินาที จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพื้นที่ในคันกันน้ำของกรุงเทพฯ ซึ่งคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ มีความสูงประมาณ 2.8-3.0 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้าหากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทรไม่เกิน 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำจะไม่ล้นข้ามคันกันน้ำอย่างแน่นอน

"ขณะนี้ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มลดลง เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน และกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ไม่มีพายุเข้ามาอีกแน่นอน โดยประมาณปลายเดือน ต.ค.นี้ ฝนเริ่มลงสู่ภาคใต้ ซึ่งต้องมีการติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลากต่อไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายจุด ที่ยังอยู่ระดับสูงและส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ประชาชน กอนช.ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและเป็นระบบ เพื่อจัดการมวลน้ำให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว" เลขาธิการ สทนช. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ