เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจพบคนส่วนใหญ่หวังการเมือง-ศก.ดีขึ้น ในอีก 6 เดือน

ข่าวทั่วไป Sunday March 1, 2009 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "วิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ และโอกาสทางสังคมในสายตาประชาชน"ว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.1 คิดว่าการเมืองไทยในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยร้อยละ 50.9 คิดว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 13.2 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 มีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในสภาวะที่ดี โดยร้อยละ 46.6 หวังว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น ร้อยละ 11.5 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 41.9 คิดว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้ายังจะแย่อยู่ โดยร้อยละ 19.5 คิดว่าจะแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 22.4 คิดว่าจะแย่ลง

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.4 ระบุว่าการเมืองอยู่ในสภาวะที่ดีในช่วง 30 วันที่ผ่านมา โดยร้อยละ 31.9 ระบุดีขึ้นและร้อยละ 18.5 ระบุว่าดีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม อีกประมาณครึ่งหนึ่งเช่นกันหรือร้อยละ 49.6 ระบุว่าการเมืองไทยยังอยู่ในสภาวะที่แย่ คือร้อยละ 30.5 ระบุแย่เหมือนเดิมและร้อยละ 19.1 ระบุว่าแย่ลง

เมื่อถามถึง เศรษฐกิจไทยในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.4 มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะที่แย่ คือร้อยละ 28.5 มองว่าเศรษฐกิจไทยแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 37.9 มองว่าแย่ลง ในขณะที่ ร้อยละ 33.6 ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี คือร้อยละ 18.0 มองว่าดีเหมือนเดิม และร้อยละ 15.6 มองว่าดีขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.4 ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเรื่องของ ราคาอาหาร รองลงมาคือ ร้อยละ 57.8 ได้รับผลกระทบในเรื่องของหน้าที่การงานโดยภาพรวม ร้อยละ 57.1 รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ร้อยละ 50.8 กำลังหางานทำ เริ่มหางานใหม่ และหางานเสริมทำ ร้อยละ 50.1 ได้รับผลกระทบในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิต ร้อยละ 43.1 ได้รับผลกระทบในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ร้อยละ 41.2 ได้รับผลกระทบในเรื่องเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 37.0 ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัย ร้อยละ 34.5 ได้รับผลกระทบในเรื่องยารักษาโรค การรักษาพยาบาล และประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.2 ได้รับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.7 ไม่ได้ติดต่อขอรับเช็ค 2,000 บาทที่รัฐบาลมอบให้ผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในขณะที่ร้อยละ 13.3 ได้ติดต่อขอรับเช็คดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนก้ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 49.5 ของผู้ที่ติดต่อรับเช็ค 2,000 บาทจากรัฐบาลระบุว่าจะเก็บไว้กับตัวก่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.5 บอกว่าจะใช้จ่ายทันที

ทั้งนี้ การสำรวจเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาประชาชนใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง กาญจนบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 2,038 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 — 28 กุมภาพันธ์ 2552 ผลสำรวจพบว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 80 ยังคงติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ