สศก.เผยสถานการณ์เพลี้ยแป้งมัน จ.ราชบุรียังไม่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2010 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 (สศข.10) จังหวัดราชบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดในพื้นที่จังหวัดราชบุรี พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 60 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งการระบาดของเพลี้ยแป้งดังกล่าวยังไม่มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการปลูกมันสำปะหลังมากนัก เพราะเป็นการระบาดในปีแรก

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 25—30% ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการซื้อยากำจัดศัตรูพืช รวมทั้งทำให้มีการเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 80% โดยส่วนใหญ่จะเป็นมันเดือนสิบสอง คือขุดช่วงเดือนตุลาคม—ธันวาคม ด้านคุณภาพของเปอร์เซ็นต์แป้งจากการสอบถามเกษตรกรและลานมัน คาดว่ามีแนวโน้มลดต่ำลงโดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 1.86 บาท ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ระหว่าง 2.5—3.0 ตัน โดยที่ในปี 2552 ผลผลิตเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ที่ไร่ละ 3.5 ตัน

นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการป้องกัน กำจัด เพลี้ยแป้ง โดยขณะนี้กระทำได้เพียงซื้อยามาฉีดพ่นไล่เท่านั้น จึงขอแนะนำเกษตรกรว่าหากพบการระบาดต้องรีบแจ้งให้ อบต. และเจ้าหน้าที่การเกษตรในพื้นที่ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขต่อไป

นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาเพลี้ยแป้งแล้ว จังหวัดราชบุรี ยังพบการระบาดของด้วงแมงจินูน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรประสบมาเป็นเวลาช้านาน โดยการระบาดดังกล่าว จะระบาดในพื้นที่ที่เป็นดินทราย และจากการสอบถามเกษตรกรที่ประสบปัญหา ยังไม่มีวิธีป้องกัน กำจัด แต่ก็มีเกษตรกรบางรายใช้วิธีการสังเกตวัฏจักรชีวิตของด้วงแมงจินูน คือจะเลือกปลูกมันสำปะหลังในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน เพื่อจะได้ขุดในช่วงเดือนตุลาคม — พฤศจิกายน ซึ่งมันสำปะหลังจะมีอายุได้ประมาณ 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการปลูกต้องคอยดูแลรักษาอย่างดีและไม่ปล่อยให้หญ้ารก ก็สามารถมีผลผลิตดีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ