วงการเกษตรมองเกษตรไทยยังมีอนาคตแต่ต้องได้รับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด

ข่าวทั่วไป Wednesday February 17, 2010 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าไทย มองอนาคตภาคเกษตรไทยว่า ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิดจากปัจจุบันเพื่อรับกับการเปลี่ยนรอบด้านทั้งการเมืองในประเทศที่ยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ เพราะหากการเมืองยังวุ่นวายอยู่แบบนี้ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบธุรกิจและก็จะกระทบต่อเกษตร และจะทำให้การแทรกแซงของรัฐมีมากขึ้น

นอกจากนี้การรวมกลุ่มเศรษฐกิจก็มีความสำคัญและต้องเตรียมตัวรับมือให้พร้อม เพราะวันข้างหน้าจะมี 10+6 คือ 10 ประเทศอาเซียน บวกกับอีก 6 ประเทศที่มีความพร้อมหลายด้านทั้งเงินและเทคโนโลยีมากกว่า คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดียและนิวซีแลนด์ ทำอย่างไรไทยจะปรับตัวรับมือตรงนี้ได้ เพราะวันนี้เพียงแค่ 1+9 คือ AFTA เรายังเหนื่อย แล้วถ้าต้องเจอ 10+6 จะทำอย่างไร

สำหรับภาคการเกษตร จำเป็นอย่างยิ่งต้องดูแลทั้งระบบ ตั้งแต่ในดิน คือเริ่มกันตั้งแต่การเพาะปลูก กระบวนการผลิต รวมถึงการตลาด คนทำธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด จะแค่ซื้อมาขายไปเหมือนแต่ก่อนก็คงแข่งขันลำบาก ต้องรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

ด้านนายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและการเกษตร TDRI กล่าวเสริมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเกษตรไทยว่า พลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาให้ดีกว่าทุกวันนี้ ไม่ใช่ศึกษาเพียงแค่เรื่องความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า เพราะถ้าเราจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องศึกษาอย่างลึกและละเอียดมากกว่าเพียงเรื่องความคุ้มค่า

ในประเทศตะวันตก พืชพลังงานอยู่ได้เพราะมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง มากกว่าที่จะมองเพียงเรื่องความคุ้มค่า

นอกจากนี้เกษตรไทยต้องพัฒนาเรื่องความสามารถทางด้านการผลิต เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องทรัพยากรดินและน้ำอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้ปัญหาเรื่องน้ำอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีแหล่งน้ำ และดินที่มีคุณภาพ ก็ต้องศึกษาให้ละเอียดว่าที่ดินตรงไหนเหมาะสมจะปลูกพืชชนิดใด และเน้นเรื่องความสามารถทางการผลิตต่อไร่มากกว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น

นอกจากนี้มองว่าตัวเกษตรกรเองก็จำเป็นต้องทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องมีความสามารถในการจัดการ ดูแลพื้นที่การเกษตรของตนเอง

ด้านนายปราโมทย์ วาณิชานันท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า วันนี้เกษตรกรไทยยังมีข้อเสียเปรียบเรื่องอำนาจการต่อรองกับพ่อค้า ดังนั้น สิ่งที่ถือเป็น Move Governance ที่รัฐต้องเร่งจัดการและแก้ไข คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างระบบการค้าที่มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะมีความเป็นธรรมแก่เกษตรกร และทำอย่างไรจะกระจายความมั่งคั่งและยั่งยืนให้เกษตรกรไทย

ขณะที่นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน รางวัลแมกไซไซ ตัวแทนเกษตรกรไทยจาก จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงปัญหาที่เกษตรกรไทยพบอยู่ในขณะนี้มีมากมายหลากหลายปัญหา แต่รัฐมักจะแก้ไขไม่ตรงจุด เช่นเร่งขยายพื้นที่ปลูกยางแทนที่จะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะการขยายพื้นที่ปลูกยางนั้น จริงอยู่ที่วันนี้ยางราคาแพง แต่ถามว่าการเร่งปลูก ขยายพื้นที่ปลูกมากๆ วันนึงผลผลิตออกมามากๆแต่ราคายางตกจะแก้ปัญหาอย่างไร

เพราะทุกวันนี้เกษตรกรมีรายได้จำกัด มีนายทุนจ้องจะซื้อที่ดินทำกินจากเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมองว่าการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกทำได้ แต่ต้องปกป้องและรักษาที่ดินทำกินซึ่งเป็นแหล่งอาหารของประเทศเอาไว้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ ต้องทำให้เกษตรรายย่อยมีความรู้ เพื่อที่จะได้สามารถพึ่งพาตัวเอง แก้ปัญหาให้ตัวเอง และสร้างความยั่งยืนให้ตัวเอง เพราะเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้คือรากฐานที่สำคัญของประเทศและรากฐานเศรษฐกิจไทย

"ปัญหาด้านการเกษตรมีเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด เราควรช่วยกันคิดที่จะทำเพื่อดำรงชีพให้ได้โดยยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงก่อนที่จะคิดว่าทำอย่างไรจะให้ร่ำรวย"นายประยงค์กล่าวเสริมตอนท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ