เลือกตั้ง'54: เอแบคโพลเผยปาร์ตี้ลิสต์โค้งสุดท้าย พท.ชนะ ปชป.สูสี

ข่าวการเมือง Wednesday June 22, 2011 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลวิจัยเพื่อประมาณจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั่วประเทศในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.นี้ พรรคเพื่อไทย(พท.) ยังได้จำนวนที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แบบสูสี ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน(ชทพ.)

"ผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงนำพรรคประชาธิปัตย์ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เมื่อเป็นข้อมูลจากการสำรวจด้วยตัวอย่างจึงต้องคำนวนช่วงความคลาดเคลื่อนด้วย ก็จะพบว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งสองพรรคยังคงมีโอกาสที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ทิ้งห่างกันมากนัก" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุ

เมื่อคำนวนจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยประมาณการจำนวนที่นั่งตามสูตร ที่นำเอาค่าประมาณคะแนนของทุกพรรคการเมืองรวมกันหารด้วยจำนวนที่นั่ง และนำผลหารไปหารค่าคะแนนนิยมของแต่ละพรรคการเมืองที่ประมาณการได้ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า พท.จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ในช่วง 46-63 ที่นั่ง ปชป.จะได้ในช่วง 40-58 ที่นั่ง ภท.จะได้ในช่วง 0-17 ที่นั่ง ชทพ.จะได้ช่วง 0-13 ที่นั่ง ส่วนพรรคอื่นๆ ได้แก่ พรรครักประเทศไทย รักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นช่วง 0-18 ที่นั่ง

แต่เมื่อคำนวนจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นจุดตำแหน่ง พบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พท.จะได้ 55 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 43.7 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ปชป.จะได้ 49 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 39.1 ภท.จะได้ 8 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 ชทพ.จะได้ 4 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ส่วนพรรคอื่นๆ ได้แก่ พรรครักประเทศไทย รักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ พรรคชาติไทยพัฒนา คาดว่าจะได้รวมกันประมาณ 9 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 7.1 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ผลสำรวจยังพบด้วยว่ามีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนอยู่ร้อยละ 5.1 ของผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผลสำรวจพบว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะมีผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 76.2 และเมื่อประมาณการทางสถิติพบว่ามีผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิจำนวน 36,057,794 คน หรือประมาณ 36 ล้านคน ในช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 หมายความว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ไปใช้สิทธิอยู่ระหว่างร้อยละ 69.2 ถึงร้อยละ 83.2 และมีผู้ไม่ไปใช้สิทธิร้อยละ 23.8 หรือประมาณ 11,262,145 คนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 47,319,939 คน

ในกลุ่มคนที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีผู้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งในใจแล้วอยู่ร้อยละ 69.9 หรือประมาณ 25,204,398 คนหรือกว่า 25 ล้านคน แต่มีผู้ยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 30.1 หรือประมาณ 10,853,396 คน หรือกล่าวได้ว่าประมาณ 10 ล้านคนที่ยังไม่ตัดสินใจ จากจำนวนผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ 36,057,794 คน

"ยังมีคนที่ยังไม่ตัดสินใจอีกประมาณสิบล้านคนที่น่าจะเป็นกลุ่มคนตัดสินผลการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบทิ้งห่างตามกระแสข่าวสารและประชาชนจะตัดสินใจตามกระแสนั้นหรือไม่ หรือคนกลุ่มนี้จะตัดสินใจทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาแตกต่างไปจากกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ จึงขึ้นอยู่ว่าประชาชนจะตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลช่วงเวลาสั้นๆ ที่ปรากฏในเดือนหรือสองเดือนนี้ หรือประชาชนจะตัดสินใจเลือกตั้งด้วยการนำเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเองย้อนหลังไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาว่าประเทศชาติได้บอบช้ำกับความวุ่นวายต่างๆ ทางการเมืองที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำได้เพียงนั่งดูความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ ด้วยความหดหู่หน้าจอทีวีและในสื่อต่างๆ" นายนพดล กล่าว

ทั้งนี้ เอแบคโพลได้สำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากประชาชนใน 28 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,349 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ