รัฐบาลแถลงนโยบายระยะ 4 ปีเน้นสร้างศก.ในปท.เข้มแข็ง-ปรองดอง-พร้อมรับ AEC

ข่าวการเมือง Tuesday August 23, 2011 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาถึงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในวาระ 4 ปีของรัฐบาล โดยยืนยันว่าจะยึดหลักการบริหารที่มีความยืดหยุ่นที่คำนึงถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะรายงานต่อรัฐสภาเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการคือ นำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลมีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น นำประเทศไทยสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกัน และ นำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์

นโยบายกระยะ 4 ปี ประกอบด้วย 1.นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ 2.นโยบายด้านเศรษฐกิจ 3.นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต 4.นโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 6.นโยบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ 7.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.นโยบายด้านความมั่นคง

  • เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ น้อมนำพระราชดำริทั้งปวง ดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งอัญเชิญไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนในชาติมีความตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งจะส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการรู้รักสามัคคี และดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
  • พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ ให้มีความพร้อมในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนให้กองทัพมีโครงสร้างที่เหมาะสมและมีความทันสมัย ส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถบูรณาการขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนให้เป็นเอกภาพ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง
  • พัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้กองทัพพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับมิตรประเทศ และมีความพร้อมในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามหลักฐานพื้นฐานของกฎหมายและสนธิสัญญาที่มีอยู่เพื่อมิให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง
  • พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มากขึ้น โดยมุ่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด องค์กรอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด

2.นโยบายด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นโยบายเศรษฐกิจมหภาค, นโยบายสร้างรายได้, นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

2.1 นโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะดำเนินการให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพ ระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ, ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยให้เป็นทั้งแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการและเป็นช่องทางการออมของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่ม

  • พัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศให้รับผิดชอบต่อคนส่วนใหญ่และผู้ด้อยโอกาส สามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมการเงินและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมด้วยค่าบริการที่ต่ำและการบริการที่มีประสิทธิภาพ, ปรับโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งจากภาษีและที่มิใช่ภาษี
  • ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงองค์ประกอบและโครงสร้างงบประมาณให้เหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการร่วมลงทุนและดำเนินการในกิจการของรัฐ
  • ปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน รวมทั้งปฏิรูประบบการกำกับดูแลการลงทุนและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน
  • บริหารสินทรัพย์ของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งสินทรัพย์ของภาครัฐ ตลอดจนทุนในท้องถิ่นที่รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมทั้งพิจารณาการจัดตั้งกองทุนที่สามารถใช้ในการบริหารสินทรัพย์ของชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองแห่งชาติ และกองทุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

2.2 นโยบายสร้างรายได้ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จัดให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งหลักประกันความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในเวลา 5 ปี

  • ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานในประเทศมาเป็นเวลานานให้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอาหารคุณภาพสูง พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง และอื่น ๆ
  • ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานทดแทนสามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้แก่ประเทศโดยถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่
  • ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการในประเทศ และธุรกิจวิสาหกิจชุมชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและคุณภาพสูง
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความพร้อมทางด้านแรงงานและวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและภูมิภาค
  • ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศในสาขาที่เป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ปรับปรุงกฎ ระเบียบ และสภาวะแวดล้อมของการลงทุนให้เอื้ออำนวยและดึงดูดนักลงทุน, เสริมสร้างกระบวนการสร้างอาชีพ สร้างงานที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นระบบ ในทุกระดับชั้นความรู้
  • ส่งเสริมการขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการเงิน ภายใต้ประโยชน์ร่วมกันของกรอบความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าหลายฝ่าย โดยจัดมาตรการเตรียมพร้อมและให้ธุรกิจและประชาชนไทยสามารถปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่และมีความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน

2.3 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ภาคเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม, ภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการกีฬา, ภาคการตลาด การค้า และการลงทุน

  • ภาคเกษตร จะส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช โดยการวิจัย
และพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิต, เพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตด้านปศุสัตว, พัฒนาการประมง ทั้งในการเพาะเลี้ยงและในแหล่งน้ำธรรมชาติ, เสริมสร้างฐานรากของครัวเรือนเกษตรกร
ให้เข้มแข็งโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิต, จัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรที่มีข้อมูลการเกษตรของครัวเรือนครบถ้วน สามารถเชื่อมโยงกับบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร,
เร่งรัดพัฒนาธุรกิจการเกษตร โดยการพัฒนาสถาบันเกษตรกรในด้านธุรกิจ, พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก, ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อเผชิญกับวิกฤตอาหารโลก
  • ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล, ยกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ใช้ปัญญา ใช้เทคโนโลยี และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทดแทนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก

พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา, พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษกับสิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมและจัดให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานจากภาคเกษตรอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงาน และเร่งรัดสำ รวจและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

  • ภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการกีฬา โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวและเร่งรัดการปรับปรุงมาตรฐาน
ที่ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกความปลอดภัย และสุขอนามัย พัฒนา บูรณะ และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ยกระดับและรักษามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้การประกอบการและดำเนินธุรกิจเป็นไปตามมาตรฐานสากล, เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจลงตรา การยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา, การพัฒนากีฬาโดยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกีฬาของภูมิภาคและของโลก จัดให้มีการแข่งขันกีฬาและกีฬาคนพิการระดับโลกที่สำคัญๆ
  • ภาคการตลาด การค้า และการลงทุน โดยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปรับปรุงพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ครอบคลุมการลงทุนด้านเกษตร อุตสาหกรรม,สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ, ปรับปรุงมาตรการการส่งเสริมการลงทุน
ให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การกีฬา และส่งเสริมการขยายตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาด, ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคี
และทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว, เร่งรัดจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ที่มี

2.4 นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการ ด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ระบบประปา และระบบไฟฟ้าให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง, ขยายการให้บริการน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่, พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางโดยพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมืองหลักในเส้นทางที่มีความสำคัญ

ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่, กรุงเทพฯ — นครราชสีมา, กรุงเทพฯ - หัวหิน และเส้นทางอื่นเพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน, ศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรีและพัทยา, เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายใน กทม.และปริมณฑล ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบใน 4 ปี โดยเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย, พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี, พัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาคและอุตสาหกรรมการบินของไทย รวมทั้งเพิ่มความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารจากปีละ 45 ล้านคน เป็นปีละ 65 ล้านคนขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชียและโลก

2.5 นโยบายพลังงาน ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค, สร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานและระบบไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศ, กำกับราคาพลังงานให้มีราคาเหมาะสมเป็นธรรมและมุ่งสู่การสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยปรับบทบาทกองทุนน้ำมันให้เป็นกองทุนสำหรับรักษาเสถียรภาพราคา ส่วนการชดเชยราคานั้นจะดำเนินการอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในภาคขนส่ง และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล, พัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อย 25% ภายใน 10 ปี

2.6 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพด้วยราคาที่เหมาะสม และการแข่งขันที่เป็นธรรม, ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย, ผลักดันให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ, ปรับเปลี่ยนระบบการใช้เทคโนโลยีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล (ยังมีต่อ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ