ครม.รับทราบกำหนดวัน-เวลาประชุมสภาผู้แทนฯ สมัยสามัญและสมัยนิติบัญญัติ

ข่าวการเมือง Tuesday September 6, 2011 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบกำหนดวันและเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัย ประชุมสามัญนิติบัญญัติ หลังมี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2554 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมฯ มีมติกำหนดให้มีการ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ละ 2 วัน คือ ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 13.00-21.00 น.และวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมัยประชุม แบ่งเป็น สมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดเวลา 120 วัน ดังนั้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้

          ปีที่             สมัยสามัญทั่วไป                สมัยสามัญนิติบัญญัติ
           1          1 ส.ค.54-28 พ.ย.54            21 ธ.ค.54-18 เม.ย.55
           2          1 ส.ค.55-28 พ.ย.55            21 ธ.ค.55-18 เม.ย.56
           3          1 ส.ค.56-28 พ.ย.56            21 ธ.ค.56-18 เม.ย.57
      และ  4          1 ส.ค.57-28 พ.ย.57            21 ธ.ค.57-18 เม.ย.58

สำหรับสมัยประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ประเภท คือ

1.สมัยประชุมสามัญทั่วไป เป็นสมัยประชุมที่มีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป โดยจะถือวันประชุมครั้งแรกที่มีการเรียก ประชุมรัฐสภาเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ซึ่งสมัยประชุมนี้รัฐสภาจะพิจารณาเรื่องใดๆ ก็ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ เสนอญัตติหรือการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

2.สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ วันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ซึ่งสมัยประชุมนี้รัฐสภาจะ พิจารณาได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ การอนุมัติ พระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือ การให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ