ปชป.ตั้งกระทู้สดถามนายกฯ แก้น้ำท่วม ห่วง"บางระกำโมเดล"ไม่ได้ผลจริง

ข่าวการเมือง Thursday September 8, 2011 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดยเฉพาะการประกาศตั้ง"บางระกำโมเดล"ว่าจะสามารถเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ อีกทั้งไม่มั่นใจการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจะทำได้ทั่วถึง เพราะทราบว่างบประมาณที่ใช้ดำเนินการช่วยน้ำท่วมอาจจะมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้จากที่เคยบอกว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ครัวเรือนละ 5,555 บาท แต่เหตุใดกลับลดลงเหลือ 5,000 บาท

นอกจากนี้ มีความห่วงใยชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและไม่มีข้าวไปจำนำตามโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเพราะนักวิชาการต่างเห็นว่าการจำนำข้าวไม่ถึงมือเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการดูแลช่วยเหลือระยะยาวอย่างไร

นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ชี้แจงเรื่องนี้แทน กล่าวว่า ต้องยอมรับปัญหาน้ำท่วมขยายวงกว้างไปทั่วประเทศถึง 44 จังหวัด โดยมี 12 จังหวัดที่เดือดร้อนหนัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ

ส่วนเรื่องการเยียวยาครอบครัวละ 5,000 บาท ก็เป็นไปตามนโยบายเดิมรัฐบาลเดิมที่ทำไว้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลใหม่แล้วไปให้เพิ่มมากกว่าเดิม เกรงจะเกิดปัญหาเหลื่อมล้ำระหว่างรายเก่าและรายใหม่ จึงปรับให้เหลือ 5,000 บาทเท่ากันทั้งหมด

รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือเยียวยาขณะนี้เป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้นในการจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตร ส่วนระยะกลางและระยะยาวเป็นหน้าที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีดำริการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรจะต้องรวดเร็วและมีคุณภาพไม่น้อยกว่ารัฐบาลที่แล้ว

ส่วนมาตรการในช่วยเหลือชาวนาที่ไม่มีข้าวมาจำนำนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)พรุ่งนี้(9 ก.ย.) ซึ่งเชื่อว่าจะมีมาตรการออกมาชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาของเกษตรกร เมื่อน้ำลดจะต้องเร่งสำรวจความเสียหายและมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป

จากนั้นนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า การป้องกันปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลุกขึ้นชี้แจงด้วยตัวเองว่า ในระยะสั้นได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูปัญหาทันที โดยยังได้ตั้งคณะอำนวยการแก้ไขปัญหาอุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการสำรวจพื้นที่และนัดประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 44 จังหวัดที่ประสบภัยและทุกจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ

สำหรับการอนุมัติเงินช่วยเหลือรัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหายและเงินช่วยเหลือครัวเรือนครอบคลุมทั้งพื้นที่ปลูกข้าวและปลุกอ้อย โดยได้พยายามเร่งการจ่ายเงินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการอพยพราษฎรและการสร้างสะพานช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยในหลายพื้นที่

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนไปสำรวจปัญหาเรื่องน้ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย รมว.เกษตรและสหกรณ์จะรับผิดชอบดูแลพื้นที่รับน้ำและจังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำ แต่เนื่องจากขณะนี้หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจึงต้องเร่งการจัดการปัญหาการบริหารจัดการในการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำก่อน

ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาวจะมีการกำหนดพื้นที่กักเก็บน้ำในทุกจังหวัด เช่น การสร้างเชื่อนหรือแก้มลิง นอกจากนี้จะกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาลงไปในแผนงบประมาณ 4 ปี โดยรัฐบาลจะศึกษาถึงโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ด้วย พร้อมยืนยันว่าตนและรัฐบาลจะมุ่งมั่นทำงานต่อไปและจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ