
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเรื่อง "คนไทยกับการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ" จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,229 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 6-9 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ส่วนใหญ่ 51.59% ค่อนข้างกังวล รองลงมา 40.60% มีความกังวลมาก ตามมาด้วย 6.67% ที่ไม่ค่อยกังวล และ 1.14% ที่ไม่กังวล
ปัญหาที่สร้างความกังวลให้กลุ่มตัวอย่างมากสุด 73.23% เป็นเรื่องราคาสินค้าแพงขึ้น รองลงมา 67.36% เป็นเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วย 65.58% เป็นเรื่องหนี้สินครัวเรือนสูง 65.58%
หากไม่มีรายได้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.32% จะมีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้น้อยกว่า 1 เดือน รองลงมา 35.24% มีใช้จ่ายได้ 1-3 เดือน ตามมาด้วย 9.85% มีใช้จ่ายได้นาน 4-6 เดือน และ 6.59% มีใช้จ่ายได้นานมากกว่า 6 เดือน
แนวทางในการรับมือภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนขณะนี้ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 77.37% คือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รองลงมา 63.96% คือลดการก่อหนี้ใหม่ ตามมาด้วย 50.80% คือเก็บออมเงินมากขึ้น
การวางแผนการเงิน เช่น การจัดการรายรับ รายจ่าย การออม การลงทุน และเงินสำรองฉุกเฉินอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่องนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 58.99% วางแผนแต่ไม่ได้ทำต่อเนื่อง รองลงมา 27.83% วางแผนอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วย 13.18% ไม่เคยคิดวางแผนเลย
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 76.06% ไม่มีเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่มีเพียง 23.94% เท่านั้นที่เชื่อมั่น
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลประชาชนกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นความเปราะบางทางการเงินของคนไทยที่เกือบครึ่งหนึ่งมีเงินสำรองฉุกเฉินใช้ได้ไม่ถึงเดือน แม้จะมีความพยายามในการลดรายจ่ายหรือพยายามวางแผนการเงิน แต่เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จากผลการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนนักก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนด้วยเช่นกัน
ด้าน ว่าที่ ร.อ.ศักดา ศรีทิพย์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรกฎหมายมหาชนและบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากปัจจัยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ปัจจัยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบหลักของ GDP ประเทศไทย ทำให้ประชาชนค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กังวลว่าราคาสินค้าจะแพง ค่าครองชีพจะสูง หนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินน้อยกว่า 1 เดือนจึงต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ลดการก่อหนี้ใหม่ เก็บออมเงินมากขึ้น เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ การที่ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้นจะทำให้การบริโภคชะลอตัวเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ทางออกคือเจรจากับสหรัฐฯ ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าไม่ขาดดุล แต่ไทยก็ต้องไม่เสียเปรียบ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ