นายกฯเผยเร่งเดินหน้าแผนป้องกันน้ำท่วม,เชื่อสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปี 54

ข่าวการเมือง Saturday February 11, 2012 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการตามแผนป้องกันปัญหาอุทกภัย ภายใต้สมมุติฐานว่ามีปริมาณน้ำราว 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเหมือนปีก่อน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมั่นใจว่าหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้รุนแรงน้อยลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมและปริมาณน้ำ

"ไม่มีใครรู้(ว่าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่) จากที่ฟังมาน่าจะมีพายุประมาณสัก 3 ลูก แต่เราคิดก็เตรียมไว้เท่ากับปริมาณน้ำที่มาปีก่อนดีกว่า" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ NBT

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นมีความจำเป็นที่จะมุ่งดูแลพื้นที่สำคัญ ซึ่งเป็นเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วมถึงก้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ

"มันมีความจำเป็นที่เราต้องพูดถึงเขตเศรษฐกิจเขตเมืองนั้นมันเพราะเป็นความมั่นใจ ถ้าประเทศปกป้องเขตเศรษฐกิจเขตเมืองไม่ได้ก็จะมีการย้ายฐานการผลิต การจ้างงานในชุมชนก็จะไม่มี" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมามีพื้นที่ถูกน้ำท่วมราว 20 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำราว 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนั้นยังไม่มีแผนรองทำให้เกิดปัญหาประตูระบายน้ำพังเสียหาย ทำให้น้ำไหลลงมาพื้นที่ตอนกลางอย่างรวดเร็ว พอดีมาเจอพายุอีก 5 ลูก ทำให้สถานการณ์เข้าขั้นหนักหนาสาหัส ซึ่งปริมาณน้ำในปี 54 ต่างจากปี 53 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แสดงว่าปริมาณน้ำมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจึงต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี

ทั้งนี้ รัฐบาลจะแบ่งบริหารจัดการน้ำออกเป็น 3 ช่วง คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยสิ่งที่ต้องทำคือ กำหนดพื้นที่ ถ้าถามว่าวิธีการชะลอน้ำตั้งแต่ข้างบนคือปลูกป่าและทำฝายชะลอน้ำก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ส่วนการปลูกป่ากว่าต้นไม้จะขึ้นต้องใช้เวลาแต่ก็ต้องทำไว้ก่อน ที่ทำได้เร็วคือฝายชะลอน้ำ ซึ่งจากพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด 20 ล้านไร่ แต่ 10 ล้านไร่เป็นป่าเสื่อมโทรม เราก็ต้องดูว่ามีตรงไหน และน้ำที่จะไหลผ่านเราจะชะลอน้ำอย่างไร นอกจากนี้สิ่งที่จะทำได้เร็วคือการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ที่จะทำให้ลดลงตามที่ กยน.เสนอ จากที่คุยกันไว้จะเก็บไว้ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้จะเน้นการป้องกันน้ำท่วม ถ้าบางพื้นที่ที่เก็บไว้เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งก็จะเก็บไว้ที่ระดับหนึ่ง ส่วนพื้นที่น้ำตอนกลาง แบ่งเป็น 2 ช่วงคือตอนบนกับตอนล่าง ตอนบนถ้าดูจากสภาพภูมิศาสตร์แล้วเป็นส่วนบริเวณที่ต่ำที่สุด ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะกระทบมากสุด เราก็ต้องทำสองอย่างคือ น้ำที่ไหลมา ถ้าไหลลงมา 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำอย่างไรไม่ให้ไหลล้นจากแม่น้ำ ก็ต้องทำคือ อ่างเก็บน้ำ และหาพื้นที่รับน้ำราว 2 ล้านไร่ ก็ต้องไปคุยในพื้นที่ว่าที่ไหนกระทบชุมชนน้อยที่สุด

"วันนี้ต่างจากปีที่แล้วคือเรามีเวลา ที่จะดูว่าให้คนอาศัยอยู่กับน้ำ ธรรมชาติของคนกับน้ำอยู่ด้วยกันได้ ก็ต้องปรับวิถีชีวิต บางพื้นที่ที่ต้องยกขึ้นก็ต้องทำ เรียกว่าทำไปพลางก่อน ขณะที่แผนยั่งยืนก็ต้องทำ เช่น ขุดแอ่งน้ำ สร้างแอ่งน้ำ เป็นระบบที่จะทำในระยะยาวต้องใช้เวลา ส่วนเร็วที่สุดคือหาพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ อาจจะหาพื้นที่บริหารน้ำตอนบนส่วนหนึ่ง ตอนล่างอีกส่วนหนึ่ง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ส่วนมาตรการเยียวยาก็หารือกัน ราคาก็ต้องดูความเหมาะสม แต่สิ่งแรกคือคุยกับมวลชน และเมื่อภาครัฐรู้ว่าน้ำจะไปตรงไหน ก็ต้องประสานไปเพื่อเตือนภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องหาแผนรองรับ เช่น เตรียมที่อยู่อาศัยเพื่อย้ายไปที่เหมาะสม ปรับวิถีชีวิต การเดินทาง เช่น เรือ หรืออาหารการกิน ที่สำคัญที่จะเพิ่มคือต้องตั้งเครื่องสูบน้ำด้วย

" เพราะที่ผ่านมาเราไม่สามารถหาซื้อเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อระบายน้ำได้ เครื่องสูบน้ำขาดเล็กที่ผ่านมาเรามี แต่ขนาดใหญ่ตรงนี้ก็จะต้องเตรียม รวมทั้งการหาพื้นที่รับน้ำ แต่ก็ขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำและปริมาณน้ำฝน ถ้าค่อยๆมาก็ไม่มีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม แต่ถ้ามาทีเดียวก็อาจจะกระทบในพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง รวมทั้งดูว่าจะทำอย่างไรให้บึงต่างๆเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ในส่วนของบริเวณ จ.ชัยนาท ที่ผ่านมาประตูระบายน้ำทำได้ไม่เต็มที่ เราก็จะไปดูความแข็งแรง เพราะถ้าน้ำมาเยอะ ก็มาเก็บไว้ก่อนชะลอการไหลไปในคลองต่างๆ แต่ถ้าเก็บไม่อยู่ก็จะกระทบในพื้นที่ใกล้เคียง วันนี้ก็จะตั้งวงจรปิดที่ประตูระบายน้ำเลย เพื่อจะได้เห็นว่าประตูระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำทำงานสัมพันธ์กัน ถ้ารวมกันในพื้นที่ตอนกลาง ตรงนี้ก็น่าจะได้รับน้ำได้สัก 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอยุธยาพืนที่ลุ่มต่ำ ก็จะทำก่อสร้างป้องกันในเขตเศรษฐกิจ เขตเมือง และดูเรื่องมาตรการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ท้องนา

"ผู้ว่าฯต้องลงไปดู ไปเยียวยาพี่น้องประชาชนในชุมชน เราก็ต้องพยายามแก้ปัญหานี้ให้มากที่สุด ส่วนโบราณสถานก็ต้องเร่งฟื้นฟู ที่ผ่านมาทำแค่เป็นแนวดิน แต่น้ำ 2 หมื่นล้านลูกบาศก์ทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่ วันนี้เราก็ต้องกลับมาซ่อมแซมทั้งหมด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้มี กยน.จะช่วยดูแลให้ มีคณะกรรมการตัดสินใจให้น้ำไหลผ่านลงมาตามธรรมชาติของน้ำ เพราะปีที่ผ่านมาทุกคนกั้นพื้นที่ของตัวเองหมด น้ำก็จะไม่ผ่าน แต่ปีนี้จะขอความร่วมมือให้น้ำผ่านเร็วที่สุด แต่มีแผนชะลอน้ำจากตอนบนลงมา ก็จะบริหารการขุดลอกคูคลองทุกส่วน วันนี้ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดขุดลอกท่อ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนปลายน้ำ ระยะเร่งด่วนเราจะเชื่อม 8 ลุ่มน้ำก่อนจากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ เพื่อกระจายโหลดของน้ำไม่ให้ลงที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เดียว แต่ให้กระจายไปที่แม่น้ำต่างๆ ด้วย ระบายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ในส่วนที่มีรอยรั่วต่างๆเราซ่อมทั้งหมดแล้ว และหากในช่วงที่น้ำทะเลหนุนต่ำก็จะเอาน้ำออก เพื่อบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการขุดลอกคูคลองต่างๆ เพื่อระบายน้ำจะมาคุยกันว่าจะระบายอย่างไร และวันนี้มีการก่อสร้างผังเมืองก็จะคุยกันว่าทำอย่างไรให้น้ำผ่าน และทาง กทม.ก็ได้คุยแล้วว่า กทม.จะรับในเรื่องขุดคลองส่วนหนึ่ง กระทรวงทรัพย์ฯอีกส่วนหนึ่ง และคุยกับภาคเอกชนมาร่วมช่วยกันด้วย ในส่วนของแนวคันพระราชดำริก็ต้องทำเสริมให้แข็งแรง เสริมด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้แข็งแรง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ทางเหนือว่า จะนำแผนงานที่ กยน.วางไว้ไปคุยกับผู้ว่าฯทุกจังหวัด เพื่อให้เห็นว่าแผนงานที่ กยน.วางไว้ และแผนหน้างานเป็นอย่างไร เพราะในพื้นที่จะรู้ดีที่สุด ไปทั้งหมด 5 วันวันแรกไปที่อุตรดิตถ์ ก็จะไปดูเขื่อนและเชิญผู้ว่าฯมาทำเวิร์คชอปว่าจะปลูกป่าอย่างไร และทำฝายกั้นน้ำ วันที่สอง พื้นที่ตอนบน ก็มาดูว่าเมื่อเราชะลอน้ำแล้ว จะทำอย่างไรในเรื่องการพัฒนาแก้มลิงที่บางระกำ ที่พิษณุโลก และประชุมผู้ว่าฯทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว คุยเรื่องพื้นที่รับน้ำมีตรงไหนบ้าง เช่น ที่บึงบอระเพ็ด วันที่สาม ที่นครสวรรค์ ดูว่าจะรับน้ำอย่างไร เช่น ที่บางโฉมศรี หรือที่ลพบุรี ก็ดูแผนซ้อมเตือนภัย วันที่สี่ ดูพื้นที่กลางน้ำตอนล่างดูที่นิคมอุตสาหกรรม ประชุมกับผู้ว่าฯทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว และวันสุดท้าย เราก็ต้องคุยกับพื้นที่ปลายน้ำทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะใน กทม. คุยเรื่องแผนขุดลอกคูคลอง ตรวจเยี่ยมโครงการคันกั้นน้ำในพระราชดำริ ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ก็ต้องดูว่าจะระบายน้ำอย่างไรให้เร็วที่สุด แต่ระยะยาวก็ต้องสร้าง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องการประสานงาน วันนี้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กนอช.)ขึ้นมารับผิดชอบในการบูรณาการ เป็นเหมือนบอร์ดที่ให้นโยบายและมีคณะระดับอำนวยการในการบริหาร ที่จะทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ก็ดึงตัวแทนที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้นๆมาเพื่อให้การตัดสินใจเป็นเอกภาพ ต้องถือว่าอะไรที่เกี่ยวกับการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำต้องฟัง กนอช. ส่วนคณะที่เป็นบอร์ดบริหารกำหนดนโยบายให้บอร์ดปฏิบัติการที่มีคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง มีการเขียนระเบียบและข้อกฎหมายไว้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทีเป็นเอกภาพ ส่วน กยน.ก็จะให้คำแนะนำในคณะกรรมการนี้อยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ