นายกฯเผยสินค้าแพงเป็นผลจากน้ำท่วม-ราคาน้ำมัน คาดหลัง มิ.ย.ดีขึ้น

ข่าวการเมือง Saturday May 5, 2012 09:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน"ว่า ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะนี้ เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ที่เป็นปัญหาต่อภาคการผลิตและการกระจายสินค้า ทำให้สินค้าขาดตลาดต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีพบว่าราคาสินค้าได้ปรับลดลงแล้ว แต่ยังไม่ถึงจุดที่ประชาชนคาดหวัง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น จึงเป็นตุ้นทุนต่อภาคการขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น

"ตอนนี้สินค้าต้นน้ำ วัตถุดิบต่างๆ ลดลงแล้ว แต่สินค้ากลางน้ำที่มีการขนส่ง ยังมีผลกระทบจากราคาพลังงาน ทำให้สินค้าปลายน้ำ ที่เป็นอาหารสำเร็จรูป หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยังแพง เพราะผู้ประกอบการอาจจะยังมีต้นทุนที่ซื้อช่วงน้ำท่วมที่ต้นทุนสูง และอาจรอปรับตามต้นทุนใหม่" นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามคาดว่าหลัง มิ.ย.55 อุปสงค์และอุปทานจะมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/55 ภาคการผลิตต่างๆยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่เพราะเพิ่งฟื้นตัวจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และเป็นช่วงรอยต่อ จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่รัฐบาลก็พยายามดูแล มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย พัฒนาฝีมือเพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชน และตอบโจทย์ต่างๆ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มรายได้ในระยะยาว เช่น การออกมาตรการเพิ่มรายได้ในโครงการรับจำนำข้าว มันสำปะหลัง การเพิ่มรายได้แก่ข้าราชการ พนักงานราชการ เป็น 15,000 บาท/เดือน การขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการปรับขึ้นราคาอาหารอย่างเป็นธรรม การตรึงราคาพลังงาน และทยอยปรับขึ้นตามกลไกลตลาด ทั้งราคาก๊าซ LPG-NGV เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว การต่ออายุมาตรการรถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำ ค่าไฟฟรี ถึง ก.ย.55

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่ได้ปรับลดลงแล้ว โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. ราคาสินค้าปรับลดลงเมื่อเทียบปีก่อน แต่อาจมีบางรายการที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสภาวะอากาศ

สำหรับเงินเฟ้อ กระทรวงพาณิชย์ได้รวมราคาอาหารสดและพลังงานไว้ด้วย แต่จะควบคุมให้อยู่ระดับไม่เกิน 3.8% ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 3%ต้นๆ ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ และเป็นระดับที่มัส่วนช่วยการเติบโตเศรษฐกิจได้อย่างดี เพียงแต่ในช่วงนี้เงินเฟ้ออาจมีแรงกดดันจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ดูแลความสมดุลของราคาสินค้าปลายทาง ซึ่งราคาอาหารสดขณะนี้มีแนวโน้มลดลง

ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงเตรียมดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชน โดยเตรียมจัดงานมหกรรมอาหารปรุงสำเร็จ ตามศูน์อาหารต่างๆ โดยขอความร่วมมือศูนย์อาหารให้กำหนดราคาที่เป็นธรรม และตั้งเป้าเปิดร้านค้าถูกใจ 1,000 แห่ง/เดือน

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้า กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้ออยู่ระดับ 3.16% ถือเป็นระดับที่พอดี และปีนี้มีปัจจัยพิเศษที่รัฐบาลต้องเร่งบริหารจัดการ เรื่องการปรับค่าจ้าง การให้สินค้าต้นน้ำ-ปลานน้ำอยู่ในระดับเพียงพอเหมาะสมกับความต้องการของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ